รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่ “แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน นครราชสีมา” พบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับทองคำ เตรียมจัดสรรงบขุดค้นทางโบราณคดีต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี ในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา
นครราชสีมา – วันที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออก ถนนอัษฎางค์ ตัดถนนพลล้าน เขตเทศบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นรับฟังสรุปข้อมูลการเตรียมความพร้อมการประชุมคณะสัญจรในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับฟังรายงานสรุปแผนการดำเนินงานภายหลังการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก (แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง เทศบาลนครนครราชสีมา กับสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ภายใต้โครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณคูเมืองเก่านครราชสีมา บูรพารวมพล ซึ่งทางกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้ดำเนินการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก (แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน) ในระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขุดตรวจแนวกำแพงเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันออกก่อนดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ต่อไปในอนาคต
โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นักโบราณคดี ได้ดำเนินการเก็บกู้โครงกระดูกและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบร่วมจากหลุมขุดตรวจมาเก็บรักษาไว้ ณ ห้องปฏิบัติการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำใต้ดิน และน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากที่นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กลับมายังห้องปฏิบัติการจะดำเนินการทำความสะอาดหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งหมดก่อนนำส่งตัวอย่างหลักฐานไปวิเคราะห์ต่อไป สำหรับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สามารถนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1.โครงกระดูกมนุษย์ จะนำไปวิเคราะห์ เพศ ส่วนสูง อายุเมื่อเสียชีวิต และรอยโรคที่ปรากฏบนกระดูก เพื่ออธิบายสภาพร่างกายขณะมีชีวิตอยู่ต่อไป นอกจากนี้จะดำเนินการจัดส่งตัวอย่างกระดูก และอินทรียวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกไปกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- หลักฐานทางโบราณคดี ประเภท เครื่องประดับทองคำ เครื่องมือเหล็ก และลูกปัดแก้ว ไปวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ ด้วยวิธีXRF จากกลุ่มวิทยาศาสตร์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สถาบันวิจัยแสงซิงโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เเละจะนำผลการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยกันต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายหลังจากดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ หลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้ว สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาจะนำส่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ บางส่วนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา เก็บรักษาอนุรักษ์และจัดแสดงต่อไป ส่วนโครงกระดูกมนุษย์จะนำส่งเพื่อเก็บรักษาและอนุรักษ์ ณ ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
“การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมากับกรมศิลปากร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ การขุดตรวจทางโบราณคดีในครั้งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะกิจสำหรับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงไม่เพียงแต่เป็นการต่อยอดทางวิชาการ แต่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรัก ตระหนัก และหวงแหน หลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งหมดในฐานะมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวคิดของสำนักศิลปากร 10 นครราชสีมา ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คืองานโบราณคดีต้องต่อยอดวิชาการ ผสานชุมชน” นางสุดาวรรณฯ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน นับเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งใหม่ที่พบในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณแนวคูเมืองด้านทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบถือว่าทั้งหมดเป็นหลักฐานใหม่ที่มีความน่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองเก่านครราชสีมาซึ่งไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบมาก่อน ในส่วนของการขุดค้นทางโบราณคดี ภายหลังจากการเก็บกู้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโครงกระดูกมนุษย์ทั้งสามโครงแล้ว สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา จะชะลอการขุดค้นทางโบราณคดีไว้เป็นการชั่วคราวเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคและปัญหาต่อการขุดค้น ประกอบกับเพื่อให้มีช่วงเวลาที่นักโบราณคดีจะทำการศึกษา วิเคราะห์หลักฐานที่ได้มาก่อนหน้านี้อย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2567 กรมศิลปากรจะได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนโบราณคดีจำนวนหนึ่งมาให้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ดำเนินการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เพิ่มเติมเพื่อให้ได้หลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงอาจจะนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดี (site museum) ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป.
//////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา