ชาวบ้านซับก้านเหลืองวอนขอที่ทำกินคืน หลังถูกกล่าวหาบุกรุกป่าทับลาน ยืนยันมีที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ชี้ข้อมูลข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน วอนสังคมเห็นใจ 

นครราชสีมา – วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหากรณีความเห็นต่างเกี่ยวกับการพิจารณาปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี จำนวนกว่า 265,000 ไร่ ยังเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านซึ่งมีส่วนได้เสียและสังคมจับตามองกันอย่างใกล้ชิด

 อย่างเช่นที่บ้านซับก้านเหลือง ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะถูกกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ซึ่งสภาพความเป็นจริงแล้วขณะนี้พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านกลายเป็นแหล่งชุมชน มีทั้งวัด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลครบครัน รวมถึงมีทั้งที่ราชพัสดุและเอกสารสิทธิ์ สปก.รวมอยู่ด้วย

 นายประคอง มาตสำโรง ผู้ใหญ่บ้านซับก้านเหลือง เล่าว่า หมู่บ้านซับก้านเหลืองนั้น มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เริ่มต้นมีการตั้งรกรากเป็นชุมชนเมื่อราวปี พ.ศ.2470 มีสำนักสงฆ์ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2484  ในขณะที่โรงเรียนซับก้านเหลืองได้เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ.2516  ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วพื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนมาแล้วตั้งแต่การประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี พ.ศ.2524 และในส่วนของการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ.2543 แนวเขตป่าจะเลื่อนไปจากหมู่บ้านแห่งนี้อีกเกือบ 4 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างมีความหวังที่จะได้เอกสารสิทธิในการครอบครองพื้นที่อย่างถูกต้องเสียที  เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ขาดโอกาสต่างๆมากมายหลายอย่างที่ควรจะได้เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่จะนำไปแสดงกับทางภาครัฐได้ตามระเบียบของกฎหมาย

 มาวันนี้เมื่อมีการจะมีการปรับปรุงแนวเขตใหม่ โดยจะไปยึดแนวที่มีการสำรวจกันเมื่อปี พ.ศ.2543 เพื่อเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดของการประกาศแนวเขตเดิม กลับมีถูกมองว่าเป็นการเฉือนพื้นที่ป่าให้ชาวบ้าน และมีการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะสภาพพื้นที่จริงนั้นเป็นชุมชน ที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน หมดสภาพป่าไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่มีการประกาศแนวเขตอุทยานปี พ.ศ.2524 แต่กลับมีความพยายามทำให้คนภายนอกคิดว่าสภาพพื้นที่นี้ยังเป็นป่าสมบูรณ์ทั้งหมด ขณะเดียวกันสภาพป่าสมบูรณ์ที่ยังมีอยู่ตอนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ให้เป็นป่าชุมชน สร้างแหล่งอาหารให้กับคนในพื้นที่จนอุดมสมบูรณ์  และในส่วนนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลานเองก็จะนำไปผนวกเข้ากับพื้นป่าทับลานใหญ่อีกรวมกว่า 11,000 ไร่ จากในส่วนของ 265,000 ไร่ ที่นำมาพิจารณานี้  ก็แทบไม่มีการพูดถึง  ดังนั้นจึงอยากให้สังคมเข้าใจในส่วนนี้ด้วย เพราะตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่กลายเป็นจำเลยสังคมที่มองว่าเป็นคนที่บุกรุกป่าและแย่งป่าไปจากคนทั้งประเทศไปแล้ว.

////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา