“หมอวรรณรัตน์” โชว์เก๋า อดีต รมว.อุตสาหกรรม-พลังงาน เสนอรัฐบาล ทำแผนแม่บท 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากอย่างถาวร ไม่ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ก็ต้องทำ ชี้ถ้าแก้ปัญหาน้ำได้ ความยากจนจะหมดไป

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องขอให้สภาฯ พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้โดยด่วน โดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมอภิปรายในญัตติดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ในปริมาณที่สูงมาก นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียรถยนต์ เครื่องบิน การตัดไม้ทำลายป่า และการเผาไหม้ต่าง ๆ เป็นต้น

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Changes (IPCC) ได้รายงานว่า เมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศ ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทำให้วัฏจักรของน้ำทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง, การเกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม, การเกิดพายุหมุนที่รุนแรง, การเกิดภาวะความแห้งแล้ง เป็นตัน ปัญหาเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาล ต่อมวลมนุษยชาติ อย่างที่ชาวโลกกำลังประสบอยู่ในเวลานี้

สส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ยกคำกล่าวของ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยสูง เป็นอันดับที่ 9 ของโลก รองจาก เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีกรอบการทำงาน ที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงความเสียหาย ที่เกิดจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันธนาคารโลกยังได้รายงานด้วยว่า จากการเกิดอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของไทย นอกจะทำให้ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 680 ราย และส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคนแล้ว ยังสร้างความเสียหาย และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP หรือประมาณ 40% งบประมาณแผ่นดิน

“ผมเห็นด้วยกับธนาคารโลกว่า เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว ในทุกลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ นับตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นต้นไป ไม่ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณ มากน้อยเพียงใด เราก็จำเป็นต้องทำเพราะหากเรามัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในระยะสั้น เพียงอย่างเดียวแล้ว เราก็จะไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านี้ ได้อย่างถาวร” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

อดีต รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศของภาคอุตสาหกรรมด้านการค้าการลงทุน ที่มีการก่อสร้าง ทั้ง ถนนมอเตอร์เวย์, ระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน หลายล้านล้านบาท เราก็ยังกล้าลงทุน แต่เรายังไม่เคยลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรกรรม กันอย่างจริงจังเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของน้ำ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมขังแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบเก็บกักน้ำหรือแก้มลิง และระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัย มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี
และมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อย่างพอเพียงและยั่งยืน

“ถ้าเรามีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมอย่างพอเพียงแล้ว เกษตรกรก็สามารถที่จะทำนาทำไร่ และประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ สามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าสามารถนำไปขายได้ในราคาที่เป็นธรรมแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สิน และปัญหาความยากจนของเกษตรกรก็จะหมดสิ้นไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ จึงขอฝากรัฐบาลพิจารณาดำเนินการ จัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากให้หมดไป รวมทั้งการพัฒนาระบบชลประทาน และแหล่งเก็บกักน้ำ ให้พอเพียงกับความต้องการทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ทั่วทั้งประเทศ อย่างยั่งยืนต่อไป” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว