“ สุวัจน์ “ มอง รธน. กู้วิกฤต ความสามัคคีของชาติ ต้องเป็นธรรม ต้องเสียสละ ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สำคัญที่สุดประชาชน และประเทศชาติต้องได้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็ได้เริ่มมี กระบวนการในการเริ่มต้นแล้วพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลก็เห็นตรงกันแล้วว่าควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็วิปรัฐบาลก็ ได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือ
ซึ่งในส่วนของพรรคชาติพัฒนาก็มีความคิดว่า เราให้การสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ที่ได้ประกาศไว้ ควรที่จะดำเนินการกัน และสองเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วถ้าได้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีความไม่สมบูรณ์ หรือปัญหาอะไรที่เกิดขึ้น ก็สมควรที่จะพิจารณามาแก้ไขกัน
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ ในเรื่องของกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ค่อนข้างจะสร้างความสับสน ในระบบของการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องในเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งบัตรใบเดียว หรือการคำนวณ จำนวนที่พรรคการเมืองจะได้ หรือความล่าช้า ในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจาก เรื่องการเลือกตั้งแล้ว ขณะนี้สังคมก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ว่าทำยังไงกระบวนการยุติธรรมจะเป็นหลักให้ประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ขณะเดียวกันเราก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผลกระทบจากเรื่องโควิด ทำให้เราต้องปรับยุทธศาสตร์ ปรับแผนงานทางด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะสร้างกฎเกณฑ์ หรือมีรัฐธรรมนูญที่สามารถที่จะปรับความยืดหยุ่นตัว ต่อสถานการณ์โลก สถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับปัญหาในประเทศได้ เราก็คิดว่าเราน่าจะดำเนินการกัน
ฉะนั้นโดยภาพรวมพรรคชาติพัฒนาก็เห็นด้วย และอยากให้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และแสดงออกถึงความตั้งใจ ความจริงใจ ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเราก็เชื่อว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกท่านเสียสละ และให้การร่วมมือให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด มันก็จะเป็นประโยชน์ ต่อบ้านเมือง และก็สามารถที่จะคลายวิกฤตที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาก
ฉะนั้น อยากจะเห็นความร่วมมือ ความรวดเร็ว ความชัดเจน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะดำเนินการกันอย่างไร อย่างในที่ประชุมพรรคร่วมถึงแนวทางในการแก้ไข ว่าจะให้แต่ละพรรค ไปนำเสนออีกครั้งหนึ่ง ในวันจันทร์ ( 24 สิงหาคม 2563) ที่จะถึงนี้ ว่าแต่ละพรรคมีความคิดเห็นกันอย่างไร กับเรื่องนี้ ของการแก้ไขที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ซึ่งจะได้ สสร.มาจากไหน ส.ส.ร.จะเป็นตัวแทนภาคประชาชนอย่างไร ที่จะสะท้อนให้เห็นว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในภาพรวม หรือการที่จะร่างรัฐธรรมนูญกันนี้ มีตัวแทนของพี่น้องประชาชนจริงๆ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญนี้ ได้รับการยอมรับ ที่มาที่ไปการได้มา
นายสุวัจน์ กล่าวย้ำว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ พรรคชาติพัฒนา อยากที่จะเสนอเพิ่มเติม คือว่าควรที่จะมีความชัดเจนในเรื่องของ Time Line ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าแก้ไขกันระยะเวลาเท่าไหร หรือว่าจะมี สสร.จะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการเริ่มแก้ไขตั้งแต่ การแก้ไขมาตร 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สองกำหนดให้มี ส.ส.ร.ว่า มาจากไหน สามการได้มาของ ส.ส.ร.สี่ ส.ส.ร.มาแก้ไขหรือมาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นี้ Time Frame หรือ Time Line ของแต่ละ เหตุการณ์ จากนี้ไป ใช้เวลาเท่าไหร ถึงจะมีรัฐธรรมนูญที่จะเป็นการยอมรับ และที่ดีที่สุด กับสถานการณ์ของประเทศ ฉะนั้น ความชัดเจนตัวนี้ก็จะเกิดการคลายกังวล และทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไปแก้ไข ปัญหาวิกฤตต่างๆได้ด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีส.ส.ร.แล้ว ถ้าเราใช้ Model ของ ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนที่มาแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เราก็ต้องคิดแบบคู่ขนานกันด้วย ว่า ถ้า ส.ส.ร. ใช้ระยะเวลาเท่าไหร ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถ้าเกิดมีการเลือกตั้ง ก่อนที่รัฐธรรมนูญ ที่มีการแก้ไขหรือรัฐธรรมนูญใหม่จาก ส.ส.ร. มาแล้ว เราจะเลือกตั้งด้วยกฎกติกาไหน แต่ถ้าเกิดเราคิดว่า การเลือกตั้งด้วยกติกาเก่าแล้วมีผลกระทบ มีปัญหามาก มันอาจจะต้องคิดแนวทางในการที่จะ แก้ไขในลักษณะบางเรื่อง บางประเด็น ให้เกิดการแก้ไขไว้ก่อน ส่วน ส.ส.ร. ก็ทำงานไป
สมมุติ ส.ส.ร.อาจจะ ไปแก้ไขจบ หรือไม่จบ ทันเลือกตั้ง หรือไม่ทันเลือกตั้ง สมมุติ สภาอยู่มาแล้ว 2 ปี ถ้าเกิด ส.ส.ร. แก้ไขได้จบก่อนการเลือกตั้ง มันก็ไม่มีประเด็นอะไร ก็ใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้ง แต่ถ้าเกิด ส.ส.ร. แก้ไข ไปเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งที่จะเกิด จะเกิดด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่กติกาก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง การเลือกตั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญเก่า ก็อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก
ฉะนั้น ผมคิดว่าควรจะคิดแบบคู่ขนานกันด้วย ส.ส.ร. เป็นโมเดล ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าเป็น โมเดลที่สุด ควรจะมี Time Line ที่ชัดเจน จะเสร็จเมื่อไร สองเราก็ต้องมีแผนว่า ถ้าเกิดว่า เกิดมีประเด็นหรือเกิดความเร่งด่วนของปัญหาอะไรต่างๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบางมาตรไว้ก่อน เช่น สมมุติเราไม่แน่ใจ ว่าจะเสร็จหรือไม่เสร็จ ก่อนการเลือกตั้งนี้ อย่างน้อยมีการแก้ไขบางประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ ก็เหมือนกับการมีการทำงานในลักษณะคู่ขนาน อันไหนเป็นปัญหาที่เร่งด่วนของประเทศ เช่นกระบวนการยุติธรรม หรือเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องการเลือกตั้ง หรือเรื่องที่หารือในสภา ว่าอะไรเร่งด่วน ที่จะมีการแก้ไข ที่นอกเหนือจากที่ ส.ส.ร. แก้ไข กับอะไรที่คิดว่า ควรให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ซึ่งผมคิดว่า ภาพรวมนี้ ก็จะมีการพูดคุยกัน พรรคชาติพัฒนาก็จะเสนอกัน แนวทางนี้ ในประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทางพรรคได้มอบหมายให้ เลขาธิการพรรค หรือเป็นวิปรัฐบาลอยู่แล้ว ก็คือคุณวัชรพล โตมรศักดิ์ เข้าร่วมประชุม
ส่วนเรื่องนักศึกษาที่จะเข้าร่วมหารือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายสุวัจน์ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เราควรที่จะยึดรวมที่ประชาชน หรือการมี ส.ส.ร. อะไรก็แล้วแต่ ฉะนั้นเราก็พยายามให้เกิดความหลากหลาย ของกลุ่มบุคคลหลายๆ อาชีพ เพราะรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และต้องใช้กันทุกคน ฉะนั้น ความคิดเห็นจากหลากหลายอาชีพ ความคิดเห็นที่มาจากรากหญ้า หรือมาจากนักธุรกิจ ความคิดเห็นที่มาจากส่วนราชการ ทุกส่วน ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบ ความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ความคิดเห็นของนักวิชาการ สิ่งต่างๆนี้ผมคิดว่าต้องช่วยกันระดมความคิดเห็น
ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย และก็ต้องแก้ไขอยู่บนพื้นฐานว่า รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพื่อบ้านเมือง ซึ่งบางที่เราก็ต้องยอมเสียสละ ไม่ตรงกับความรู้สึกเราบ้าง ได้เปรียบ เสียเปรียบ ทางการเมืองก็เอาไว้ก่อน ก็ต้องเอาบ้านเมืองไว้ก่อน ให้รัฐธรรมนูญ เป็นของประชาชน จริงๆ และแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้จริงๆ
สำหรับพรรคชาติพัฒนา เราก็มีการนำเสนอไว้ในชั้นกรรมาธิการ วิสามัญไว้หลายประเด็น อาทิเช่น เราคิดว่าควรแก้ไข วิธีการว่าด้วยการเลือกตั้ง เรื่องใน บัตร 1 ใบ ประชาชนสับสน หรือเรื่องการต้องมี ไพรมารี่ โหวต อย่างพรรคเล็กๆ จะส่ง 350 เขต ก็ต้องมีตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง เขตละ 100 คน ต้องหามา 35,000 คน ถึงสามารถจะส่ง ส.ส.ได้ครบทุกเขต อย่างนี้ค่อนข้างจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก หรือการที่จะต้องจ่ายเงินสมาชิกพรรคการเมือง ตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่ขนาดนี้แล้ว จะมีส่วนรวมทางการเมืองยังต้องมาจ่ายตังค์อีก เราคิดว่าสิ่งต่างๆต้องแก้ไข
นายสุวัจน์ ย้ำว่า การเลือกตั้งที่ผ่านก็จะเห็นปัญหาของการคำนวณคะแนน การจัดสรรว่าพรรคไหนจะได้ หรือไม่ได้ ความล่าช้า ในการประกาศผล จะจัดตั้งรัฐบาลได้ 3- 4 เดือน กว่าเราจะมีพรรครัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้ง หรือ ในเรื่องของวุฒิสมาชิก เราก็ต้องการให้วุฒิสมาชิก ยึดโยงกับประชาชน ควรที่จะให้พี่น้องประชาชน เป็นผู้กำหนด ได้ใช้สิทธิ์ ในการเลือกตั้ง หรือในเรื่องของการกระจายอำนาจ ไปสู่ท้องถิ่น เราอยากเห็นในการให้ความสำคัญ ของท้องถิ่นในการที่ จะขึ้นมาบริหารการจัดการภารกิจต่างๆ เพราะเค้าอยู่กับประชาชน การให้อำนาจเค้า หรือการให้ตัวแทนเค้า
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องของงบประมาณต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ เราจะเห็นงบประมาณต่างๆ ที่พี่น้องประชาชนฝากความหวังไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ตามกฎกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญ การจัดสรรงบประมาณและการแปรญัตติ ฝ่ายการเมือง เมื่อตัดงบประมาณแล้ว ก็ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ จุดที่ตัดได้ ควรจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมือง แสดงความคิดเห็น ให้มากกว่านี้ เพื่อให้งบประมาณนี้ตรงกับปัญหาที่พี่น้องประชาชนอยากจะเห็น อันนี้เป็นภาพรวมที่พรรคชาติพัฒนาได้นำเสนอไว้ กับคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้
และเราก็คิดว่าการนำเสนอต่างๆ เราเป็นพรรคเล็ก การที่จะเสนอด้วยตนเองต้องเสนอที่ 100 เสียง เราไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเรา ฉะนั้น คงต้องอาศัยแนวทางหลายๆพรรค เพื่อนำเสนอ แต่เราก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยน ฟังความคิดเห็นร่วมกัน บางที่ข้อเสนอเราอาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่ดีที่สุด ใครมีข้อเสนอที่ดีที่สุด เราก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด
“เราเป็นพรรคการเมือง เราก็พร้อมกับทุกสถานการณ์ ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร มันก็เป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่ถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไร เราก็มีความพร้อม เพียงแต่ว่าอยากเห็น การเลือกตั้งที่อยู่บนพื้นฐานที่ ทำให้เกิดการยอมรับ อย่าให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือความขัดแย้ง การเลือกตั้งเราก็มีเป้าหมายที่จะ ได้นักการเมือง ได้ ส.ส. หรือได้รัฐบาล ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศในขณะนี้” นายสุวัจน์ กล่าวพร้อมย้ำว่า
“ในวันนี้เรื่องเศรษฐกิจ หลังโควิด นี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่เราต้องปรับฐานและปรับยุทธศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อันช่วงฟื้นตัวก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามสีปีนี้ แต่วันข้างหน้า เราต้องปรับฐานว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเดินไปในทิศทางไหน ผมว่าต้องปรับฐาน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจเราในปัจจุบัน เราพึ่งพาต่างประเทศ พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศ พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ พึ่งพาการส่งออกไปต่างประเทศ ทำยังไงที่เราจะยืนอยู่บนลำแข้ง ของเรา ยืนอยู่บนขาของตนเอง เวลามีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เราก็ยืนอยู่ได้ ฉะนั้นเรา ต้องหาจุดแข็ง ของเมืองไทย ความเป็นเมืองน่าอยู่ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ จากการที่เราประสบความสำเร็จเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด การเป็นเมืองเกษตร การเป็นเมืองอาหาร ป้อนโลก การเป็นเมืองท่องเที่ยว อันนี้คือจุดแข็ง ที่เรามีศักยภาพในการพัฒนา เราได้การเมืองที่เข้มแข็ง การเมืองที่มีเสถียรภาพ ได้นักการเมืองดีๆ ได้รัฐบาลที่พี่น้องประชาชนให้การยอมรับ และมาขับเคลื่อนประเทศอยู่บนจุดแข็ง ก็เหมือนเป็น นิวนอร์มอลของเศรษฐกิจไทย หลังจากที่เราผ่านระยะการฟื้นตัว ของวิกฤตเศรษฐกิจโควิด อย่างน้อยการฟื้นตัว ผมเชื่อว่าต้องใช้ระยะเวลา 3 ปีอย่างน้อย กว่าเราจะเข้าเศรษฐกิจใหม่”
ฉะนั้น การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เสถียรภาพการเมืองนี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะฟื้นฟู และที่จะสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนเรื่องการประท้วงของนักศึกษา การจับกลุ่มแกนนำนั้น นายสุวัจน์ มองว่าปัญหาอะไรต่างๆ มันเหมือนประชาธิปไตย เราก็ต้องแก้ไขด้วยหลักการประชาธิปไตย ก็คือการเปิดเวที รับฟังความคิดเห็น การพูดคุย การทำความเข้าใจกัน การไม่ใช้ความรุนแรง และการคำนึงสิทธิเสรีภาพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าทุกอย่างถ้าอยู่ในกรอบนี้ เราก็คนไทยด้วยกันอยู่แล้ว พูดคุยทำความเข้าใจกันได้
และผมก็เชื่อว่า อย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เรา เห็นต่างๆกัน และก็เป็นสิ่งหนึ่งในสังคม อยากเห็นการแก้ไข ฉะนั้นทุกฝ่ายเห็นตรงกัน และเร่งดำเนินการในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๆ ก็จะมาคลายวิกฤต ของประเทศ
วิกฤตของสังคมได้ อะไรที่เป็นวิกฤตและคลี่คลาย ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เหลือความเห็นต่าง หรือปัญหาของความขัดแย้ง ให้น้อยที่สุด และในทีสุดก็นำไปสู่การพูดคุย การทำความเข้าใจ บรรยากาศต่างๆ ก็จะดีขึ้น ถึงจะใช้เวลาก็ต้องใช้เวลากัน แต่สำคัญที่สุดนี้ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ต้องอย่าใช้ความรุนแรงกัน ใช้การเจรจากัน ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ผมก็คิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นกลไก ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะแสดงถึง ความจริงใจ ความตั้งใจ การแก้ไขปัญหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะ นำไปสู่การลดวิกฤตในบ้านเมืองได้ ฉะนั้นอะไรที่เราสามารถที่จะ สร้างกลไกต่างที่จะ ลดความเห็นต่าง ความขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องรีบดำเนินการ
ฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะเร่งรัดได้ และก็สร้างความชัดเจน เปิดใจมีความจริงใจ และทุกคนต้องพร้อมที่จะเสียสละ ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ไม่ต้องไปคิด ให้ประเทศชาติได้เปรียบให้ประชาชนได้เปรียบ และเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็เป็นกลไก หนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของความเห็นอกเห็นใจกัน การพูดคุยกันในฐานะคนไทยด้วยกัน การรับฟังความคิดเห็นในประชาธิปไตย และเราไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ในกรอบของกฎหมาย ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด