JS ARTS GRAND OPENING
“สุจินตนา” เปิดพื้นที่แห่งความสุข ในทุกศาสตร์แห่งศิลปะ
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 เวลา 16.00 น.ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิด JS Arts Gallery กล่าวว่าคุณสุจินตนาทําสิ่งที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมไม่ใช่เฉพาะเปิด JS Arts Gallery แต่ได้ทํากิจกรรมหลายๆเรื่องโดยเฉพาะบรรดาศิลปินทั้งหลายจะรู้ดีเพราะเราได้แสดงภาพเขียน ภาพถ่ายหาเงินให้รพ.ศิริราชได้เยอะ และยังดูแลทุกข์สุขของศิลปินไม่น้อย รวมทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ คุณสุจินตนา เป็นผู้ที่มีจิตอาสา จิตสํานึกในการที่จะทําอะไรเพื่อช่วยคนอื่น ดังนั้น เวลามีปัญหาปรากฏในส่วนบุคคลที่เดือดร้อน คุณสุจินตนา จะเสนอความช่วยเหลือทุกครั้ง
“ผมขอแสดงความยินดี และชื่นชมด้วยความจริงใจ และพร้อมจะช่วยให้งานทุกอย่างที่คุณสุ
จินตนา ได้จัดครั้งนี้ให้เป็นรูปธรรมกับเยาวชน ยิ่งเป็นความปรารถนา เช่นเดียวกับพวกเราศิลปิน ศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งศิลปินน้องๆ จะได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่แห่งนี้ ในการถ่ายทอดความรู้เพื่อคนอื่นและอยากให้ผลงานเหล่านี้เป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้คุณสุจินตนา ขอให้ประสบความสำเร็จ“นายชวน กล่าว
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าวันนี้คุณสุจินตนา ได้เชิญ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย มาเป็นประธาน เพื่อให้เป็นแหล่งรวมทางวิทยการ แตกฉาน ศิลปวัฒนธรรม เรื่องของศิลปินแห่งชาติ ที่จะได้มีโอกาสมาร่วมกันขยายผลของความรู้ความเข้าใจในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมไทย การแสดง ซึ่งคุณสุจินตนา มุ่งมั่น ที่จะรักษาไว้เพื่อให้ประเทศไทย และในงานนิทรรศการที่สุดในโลก…บัว “ดอกบัว” เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความสง่างามของเมืองไทย ความงดงาม ความสวยงาม ซึ่งคุณสุจินตนา จะมีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นองค์ประกอบในตัวท่าน รวมถึงสถานที่แห่นี้ด้วย
คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล ประธาน JS Arts Gallery และประธานมูลนิธิเก้า ยั่ง ยืน กล่าวว่า
ขอบพระคุณทุกท่านที่มาเป็นเกียรติและให้เกียรติในวันนี้ ตน
มีความสุขมากที่ได้สร้างที่นี่ เพื่อเป็นที่รวมของการใช้ความสุขร่วมกัน คือ ตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งอยากจะเปิดหอศิลป์เล็กๆ เป็นที่ชุมนุมของศิลปินน้อยใหญ่มาสอนให้กับผู้มีกําลังใจน้อยกว่าให้เกิดประโยชน์ อยากจะเป็นที่ทําให้คนมีความสุข ดูศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตนั้นดําเนินเรื่องศิลปะทุกอย่าง คือ ทําให้ชีวิตมีความหมาย มีความสุขที่จริงใจ ไม่ใช่ความสุขจอมปลอม การที่เรามีบ้านใหญ่ ไม่ใช่เรามีความสุข แต่เราจะทําบ้านใหญ่อย่างนั้นให้มีประโยชน์ได้อย่างไร ก็เลยขอเชิญบ้านนี้ให้เป็นที่รวมของการชุมนุมของการทําสื่อศิลปะ และงานช่วยเหลือสังคม
“ขอกราบขอบพระคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัลยาณมิตรทุกๆท่าน ที่อาจไม่หาได้ง่ายๆ เป็นคนโชคดีคนหนึ่ง ในการเกิดในครั้งนี้ คือการได้มีกัลยาณมิตรที่ดีมาก”
ผศ.ดร.ณ นพชัย ชาญศิลป์ สถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก บางพระ จ.ชลบุรี กล่าวว่า อยากให้คนไทยจําแนกบัวได้ถูกว่า บัวหลวง คืออะไร บัวสาย คืออะไร และบัวสาย ที่เราภูมิใจนำเสนอ คือ บัวที่เราปรับปรุงขึ้นในเมืองไทย จนกระทั่ง วันนี้ บัวที่เกิดจากฝีมือคนไทยดีที่สุดในโลก ฉะนั้น ต่างชาติ ต้องเข้ามาดูบัวในเมืองไทย
“บัว ที่เป็นแชมป์โลกมากที่สุดในโลก คือ บัวไทย ปัจจุบันประเทศไทย กลายเป็นผู้ส่งออกที่สําคัญที่สุดในโลกถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ“อาจารย์ ณ กล่าว
อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การภาพถ่าย) ปีพ.ศ.2552 กล่าวว่าดีใจที่ได้มีการจัดแสดงภาพบัว สวยๆ ในเมืองไทย แสดงให้คนทั่วประเทศได้เห็นเหมือนต่างประเทศ มีทั้งภาพจิตกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ภาพบัวชุดบัว 100 กว่าภาพ และบัว จริง
“อยากจะขอเชิญชวนมาชมนิทรรศการที่สุดในโลก…บัว ที่คนที่เข้ามาแล้วจะได้เห็นบัวในมิติต่างๆ ทั้งรูปภาพ รูปถ่าย
รูปแกะสลักอะไรต่างๆ และได้สัมผัสกับบัวจริงๆ ที่หลากหลายบัวที่เล็กที่สุดในโลก บัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถชมได้ที่นี่ JS Arts Gallery”
ผศ. ไพโรจน์ วังบอน ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าไฮไลท์ของงานนี้ คือ การผสมพันธุ์บัวหลายๆ สายพันธุ์ที่ไปชนะการประกวดของโลกของ ผศ.ดร.ณ นพชัย ชาญศิลป์ สถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มีบัวที่ใหญ่ที่สุด บัวจิ๋ว อยู่ในถ้วยกาแฟ และมีงานภาพถ่ายของศิลปินแห่งชาติ งานประติมากรรม งานจิตรกรรมต่างๆ 65 ชิ้น จากศิลปิน 45 ท่าน จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.ถึง 31 ก.ค.67
สำหรับภาพดอกบัว สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 3 เมตรคูณ 7 เมตร 20 เซนติเมตร นั้น อาจารย์ไพโรจน์ กล่าวว่า เป็นภาพที่เกิดจากแรงบันดาลใจ มาจากท้องทุ่งสีทอง มีแสงเหมือนตอนเย็นๆ อุ่นๆ ชื่อภาพ “สีสันของฤดูกาล”เป็นการถ่ายทอดความงามของวิวทิวทัศน์ ที่ข้างหลังเป็นทุ่งข้าว ที่โดนลมพัด แล้วมีธรรมชาติของดอกบัวที่เกิดขึ้นความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ อะไรต่างๆ ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ใช้เวลาเขียน 3 ปี
”ผมมองว่ามันคือ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน มีน้ํา มีทุ่งข้าวที่มีความงามมีความอุดมสมบูรณ์ ดูแล้วมีความสุข กับบรรยากาศสีสันของของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์”อาจารย์ไพโรจน์ กล่าว