ควบคุมโรคที่ 9 เตือน ยาดองผสมเมทานอล หรือสุราเถื่อน ดื่มแล้วอันตรายถึงชีวิต
นครราชสีมา-วันนี้ (2 กันยายน 2567) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึง กรณีพบผู้ป่วยที่ดื่มสุราปลอมหรือยาดองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่มีการลักลอบผสมสารเมทานอล จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 40 ราย และมีผู้เสียชีวิตหลายรายแล้วนั้น ต้องขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ควรดื่มยาดองที่ซื้อจากพื้นที่ถนนหทัยราษฎร์ /ถนนสามวา /ถนนเจริญพัฒนา บริเวณใกล้เคียงโดยรอบกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจนำยาดองนี้มาจำหน่าย หรือยาดองจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึง สุราที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตด้วย
เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้ตรวจสอบสุราปลอมดังกล่าว พบว่า มีส่วนผสมของเมทานอลและไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เป็นสารอันตรายที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและนำมาบริโภคไม่ได้ แต่กลับมีผู้ผลิตยาดอง-สุราต้ม-สุรากลั่นเองบางราย ได้ผสมสารพิษหรือเมทานอลในสุราเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากเมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังติดตามและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้มีการสอบสวนและตีกรอบพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีการรับหัวเชื้อยาดองผสมสารเมทานอล และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษเมทานอล
ซึ่งผู้ที่บริโภคสุราปลอมหรือยาดองที่มีส่วนผลสมของเมทานอล จะมีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติ ร่วมกับมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงขอย้ำเตือนไปถึงประชาชนได้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราปลอม หรือยาดองที่จำหน่ายตามซุ้มยาดอง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นชีวิตได้
นอกจากนี้ ให้สังเกตลักษณะขวดต้องไม่มีการแยกบรรจุใหม่ ไม่มีการใช้ขวดเครื่องดื่มอื่น ๆ มาบรรจุแทน และฉลากต้องชัดเจน หากพบว่ามีสี กลิ่น รสเปลี่ยนไปจากเดิม ขุ่นหรือมีตะกอน ไม่ควรนำมาดื่ม และแจ้งร้านค้าผู้จัดจำหน่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ และหลีกเลี่ยงการดื่ม เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของตนเอง โดยหากพบการกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถร้องเรียนได้ที่โปรแกรม TAS โดยเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th และสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษา คำแนะนำ และเทคนิคการเลิกดื่มสุราอย่างปลอดภัย จากศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด 1413 สายด่วนเลิกสุรา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
///////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา