เอลนีโญกำลังแรง ทำร้อนแล้ง น้ำลดรวดเร็ว  ขณะที่เกษตรกรโคราชดื้อทำนาปรัง ดึงน้ำลำมูลไปใช้ ทำน้ำลดฮวบ ขาดเป็นช่วง ๆ กลายเป็นหย่อมลำธารขนาดเล็ก

 นครราชสีมา- เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำในลำน้ำมูล ช่วงฝายยางบ้านขามใต้ ตำบลดงใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว โดยลำน้ำด้านเหนือฝายมีน้ำสำหรับใช้ผลิตประปาหมู่บ้านเพียงเล็กน้อย ส่วนด้านล่างฝาย ระดับน้ำในลำน้ำมูลลดลงจนบางจุดแห้งขอดจนสันดอนดินทรายปรากฏให้เห็น กลายเป็นแอ่งลำธารขนาดเล็กๆ ซึ่งคาดว่า อีกไม่นานน้ำในบริเวณนี้จะแห้งจนหมด

 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำลำมูลในบริเวณนี้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากชาวบ้านสูบดึงน้ำในลำมูลไปใช้ทำการเกษตรปลูกข้าวนาปรัง แม้ว่าทางจังหวัดฯ และชลประทาน จะมีประกาศขอความร่วมมืองดใช้น้ำทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง แต่เกษตรกรยังดื้อไม่ให้ความร่วมมือ โดยอ้างความจำเป็นว่า ช่วงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำก็มีมาก จนหลากมาท่วมนาข้าวได้รับความเสียหาย เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เป็นการทดแทนปลูกข้าวนาปีดังกล่าว แต่ก็พบอุปสรรคเพราะชลประทานไม่ปล่อยน้ำให้ทำการเกษตร ชาวบ้านจึงต้องสูบน้ำเท่าที่มีอยู่ในลำน้ำมาใช้เพาะปลูก เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโต ออกผลผลิตได้คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงเพาะปลูกไป จึงส่งผลให้น้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จนลำน้ำมูลขาดเป็นช่วงๆ

 นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงหน้าแล้ง ก็ส่งผลกระทบอย่างมาก ทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ / ลานีญา เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยรายงานว่า ปรากฏการณ์เอนโซปัจจุบัน ยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง คาดหมายว่า สภาวะเอลนีโญจะยาวนานประมาณครึ่งปี ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในขณะที่ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ  และเอลนีโญกำลังแรงจะอ่อนกำลังลง และเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 โดยมีโอกาสความน่าจะเป็น ร้อยละ 55 ที่สภาวะลานีญาจะพัฒนาตัวขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าว ทำให้ช่วงฤดูแล้งปีนี้ฝนจะน้อย ประชาชนต้องเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงขั้นแล้งหนักหากเทียบกับภัยแล้งในอดีต และคาดว่า เอลนีโญและฤดูแล้งจะหมดลงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝนพอดี โดยคาดว่าจะเริ่มช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งฤดูฝนปีนี้จะมีฝนตกตามค่าเฉลี่ยทั่วไป จะมีพายุเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก และช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ก็จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว .

///ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา