ปลาไข่สระประปาบ้านหนองใหญ่ลอยตายไม่ทราบสาเหตุนับพัน  ด้านประมงอำเภอรุดตรวจสอบเบื้องต้นคาดเกิดจากอากาศปิดทำออกซิเจนในน้ำต่ำ

นครราชสีมา – เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอายุวัฒน์ อนุตรอริยกุล ประมงอำเภอครบุรี  จ.นครราชสีมา พร้อมอาสาสมัครประมงอาสา และผู้นำชุมชนบ้านหนองใหญ่ หมู่ที่ 7  ต.ครบุรี อ.ครบุรี  เข้าทำการตรวจสอบสระน้ำประจำหมู่บ้าน ภายหลังจากได้รับแจ้งว่าเกิดมีปลาลอยตายเกลื่อนทั่วบริเวณสระ โดยไม่ทราบสาเหตุ  โดยจากการตรวจสอบพบว่าสระน้ำดังกล่าวเป็นสระน้ำที่ขุดลอกเอาไว้ใช้ทำน้ำประปา เนื้อที่กว่า 30 ไร่    ภายในบริเวณผิวน้ำภายในสระมีปลาเกล็ดลอยตายเป็นจำนวนมาก  คาดว่าน่าจะมีปริมาณเกือบ 1 ตัน  และเป็นที่น่าเสียใจอย่างมาก เนื่องจากปลาที่ลอยตัวส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่กำลังตั้งท้องเตรียมจะวางไข่    ทางประมงอำเภอครบุรี จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อนำส่งไปตรวจพิสูจน์คุณภาพน้ำยังสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา   พร้อมกับแนะนำให้ผู้นำชุมชนแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันเก็บปลาที่ลอยตายออกจากสระน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเสียและโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นายสากล  พรมครบุรี ผู้ใหญ่บ้านหนองกราด หมู่ที่ 13 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ต้องใช้น้ำจากสระดังกล่าวด้วยกันกับบ้านหนองใหญ่หมู่ที่ 7 กล่าวว่า สระน้ำแห่งนี้เป็นสระน้ำประปาที่ใช้ร่วมกัน  3 หมู่บ้าน  ขุดลอกมาได้กว่า 20 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาปลาตายจำนวนมากมาแล้ว 2 – 3 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงหน้าฝน และมีน้ำจากพื้นที่ไร่นาไหลลงสู่สะกะทันหัน  แต่ในครั้งนี้ ยังไม่ทันเกิดน้ำไหลลงสระ ก็เกิดมีปลาลอยตายก่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเริ่มทยอยตายมาได้ 2 – 3 วันแล้ว คาดว่าปลาที่ตายน่าจะเกือบ 1 ตันแล้ว  จึงได้แจ้งทางประมงอำเภอให้เข้ามาตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุของการตายของปลาที่ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด 

ทางด้านนายอายุวัฒน์ อนุตรอริยกุล  ประมงอำเภอครบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่ปลาลอยตายผิดปกติในครั้งนี้ อาจจะเกิดจากการที่สภาพอากาศในช่วงนี้ เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน ทำให้มีอากาศร้อนจัดในช่วงกลางวันและเกิดท้องฟ้าปิดกะทันหันในช่วงบ่าย ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงกะทันหันเช่นเดียวกัน  ทำให้ปลาโดยเฉพาะปลาเกล็ดจำพวกปลาตะเพียน  ปลาสร้อย ปลาขาว ซึ่งเป็นปลาที่ไวต่อการขาดออกซิเจนประสบปัญหาล้มตายได้ง่าย เพราะสภาพอากาศและออกซิเจนในน้ำไม่เหมาะต่อการดำรงชีพของปลาชนิดนี้    แต่ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีก   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างกลับไปตรวจพิสูจน์ยังห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

ทั้งนี้ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝนนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรต้องหมั่นดูแลสภาพน้ำภายในบ่อหรือสระเลี้ยงปลาให้สะอาด และเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลารวมถึงสระน้ำ  ระวังจากพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำหลากชะล้างเอาสารเคมีลงสู่สระน้ำซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาได้   หากปลาเติบโตพอที่จะสามารถจับขายได้ก็ควรเร่งจับจำหน่าย เพื่อลดอัตราความหนาแน่นของปลาในสระลง  ซึ่งจะทำให้การดูแลสระน้ำทำได้ง่ายขึ้นด้วย.

//////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา