แห่เทียนพรรษา โคราช 2566 ยิ่งใหญ่อลังการ 1-4 สิงหาคมนี้

แห่เทียนพรรษาโคราช “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” Korat : The City of Candle Light ประกวดต้นเทียนพรรษา ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ประกวดขบวนแห่ต้นเทียนที่วิจิตรตระการตาแสดงความเป็นอัตลักษณ์ รวมถึงสีสันขบวนแห่ที่หลากหลาย

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่สืบไป โดยจัดให้มีกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ การประกวดต้นเทียนพรรษา ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , การประกวดขบวนแห่ต้นเทียนที่วิจิตรตระการตาแสดงความ เป็นอัตลักษณ์ของโคราช รวมถึงสีสันของขบวนแห่ที่หลากหลาย , พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานบุษบกและอัญเชิญพระนาคปรกอายุกว่า 1,500 ปีจากวัดพระนารายณ์มาประดิษฐาน บริเวณลานย่าโมให้พี่น้องประชาชนได้กราบไหว้สักการะ, พิธีเจริญพระพุทธมนต์, การหล่อเทียน พรรษาถวายวัดเป็นพุทธบูชา, กิจกรรม Workshop สืบสานวัฒนธรรมทำเทียนพรรษาโคราชที่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และการแสดงดนตรี แสง สี เสียง ภายในงาน เป็นต้น โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงานและมอมรางวัล

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 18.00 น. ที่ศาลาไทยลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา , พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.มืองนครราชสีมา , น.ส.กรรณิการ์ พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีตำบลพิมาย , นางสุทิน ชาติพุดซา นายกเทศมนตรีตำบลหนองกระทุ่ม , น.ส.เกตน์สิรี สมบูรณ์ศิลป์ , รอง ผอ.ททท. สำนักงานนครราชสีมา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผอ.สถาบันไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมกันแถลงข่าวความพร้อมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2566 ภายใต้ ชื่องาน “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” Korat : The City of Candle Light ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2560 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุนารี สวนสุรนารี และสวนเมืองทอง โดยมีส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไปพร้อมใจสวมใส่เสื้อผ้าชุดผ้าไหมไทย นุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าซิ่น

นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่าเทศบาลนครนครราชสีมา ได้กำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้ชื่องาน “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” Korat : The City of Candle Light ในวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้สู่สังคมไทย ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองโคราชหลังจากสถานการณ์โควิด 19 จุดเด่นของปีนี้คือ การประกวดต้นเทียนพรรษาชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัดที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประกวด 12 วัด และยังมีการประกวดขบวนแห่จากภาคประชาชน สถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ อีก 5 ขบวนแห่ ที่จัดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 โดยจะเคลื่อนขบวนแห่ไปยังเส้นทางต่างๆ รอบเมืองตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

สำหรับงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2566 “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” Korat : The City of Candle Light ในระหว่างวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2566  ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กิจกรรมภายในจะมีการประกวดต้นเทียนพรรษา ประเภท ก และประเภท ขการประกวดขบวนแห่, พิธีทำบุญตักบาตร, มีการจัดขบวนเทิดพระเกียรติ อัญเชิญถ้วยรางวัลพระราชทาน จำนวน 5 ขบวน ประกอบด้วย ขบวน “แสงสว่างกลางใจประชา” (ขบวนนำ), ขบวน “แสงเทียนแห่งศรัทธา”, ขบวน “แสงเทียนแห่งอารยชน” , ขบวน “แสงเทียนแห่งบรรพชีวิน” และขบวน “แสงสว่างแห่งเสรี”, การแสดงแสง สี เสียง การแสดงโขน การแสดงดนตรีออเคสตร้าประกอบต้นเทียน, การแสดงดนตรี การแสดงศิลปวัฒนธรรม, การสาธิตการแกะเทียน การพิมพ์เทียน การให้ความรู้ทางศิลปะ การหล่อเทียนที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม การนำเทียนที่หล่อไปถวายวัดร่วมกันเพื่อรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมการแห่เทียนพรรษามิให้สูญหาย ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมชมงานได้ทราบรายละเอียดและความสำคัญของประเพณีวันเข้าพรรษา และการแห่เทียนพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของไทย

สำหรับการจัดทำต้นเทียนพรรษา เพื่อเข้าร่วมการประกวดต้นเทียนพรรษาของแต่ละวัดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 – 4 เดือน ใช้งบประมาณ ใช้ความรัก ความสามัคคี ใช้ความกลมเกลียว ตลอดจนการใช้ช่างเทียนที่มีผีมือและประสบการณ์ในงานทำการแกะสลัก การทำแต่ละปีแต่ละครั้ง ได้ฝึกคนรุ่นใหม่ให้สามารถสืบทอดต่อถึงอนุชนรุ่นหลังได้ อันจะทำให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว ได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดูแลรักษาให้คงไว้ซึ่งคุณค่าวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันจะทำให้ผู้เข้ามาเที่ยวชมงานได้รับความพึงพอใจ และเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นเกิดการสืบสาน ต่อยอด และรักษาไว้ขนบธรรมเนียมประเพณี การจัดงานแห่เทียนพรรษาของโคราชในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่าวันละ 50,000 คน หากตรงกับช่วงวันหยุดยาวหรือเสาร์อาทิตย์ การจัดงานที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่าวันละ 100,000 คน ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ผู้มาเที่ยวงานได้จับจ่ายใช้สอย เฉลี่ยคนละ 500 บาท ก่อให้เกิดรายได้มากถึง 50,000,000 บาท เทศบาลนครนครราชสีมาคาดว่าการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้อย่างต่อเนื่อง 4 วัน จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติได้เดินทางมาเที่ยวชมมากขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองโคราชได้เป็นอย่างดี