“อัษฎางค์” โพสต์เล่าเรื่อง “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์” พี่น้องท้องเดียวกัน ที่คุณอาจไม่เคยรู้
วันที่ 11 พ.ค. นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ พี่น้องท้องเดียวกัน ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
(ผมโพสต์เรื่องนี้ไว้นานมาแล้ว ขอนำมาฉายซ้ำ และเพิ่งเติมข่าวการจากไปของพี่ตั้วในตอนท้ายครับ)
………………………………………………………………….
พี่ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นน้องชายแท้ๆ ของพี่เอก ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ โดยมีพี่น้องกัน 4 คน แต่สาเหตุที่ใช้คนละนามสกุลกัน เนื่องจากในวัยเด็กพี่ตั้วได้ถูกป้าขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจึงใช้นามสกุลวงษ์กระจ่างของป้า แทนนามสกุล วรากุลนุเคราะห์
………………………………………………………………….
ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
พี่เอกเป็นคนสมุทรสงคราม เป็นพี่ชายแท้ๆ ของพี่ตั้ว แต่เติบโตมาจากคนละบ้าน
เรียนชั้นประถม ๑-๖ ที่โรงเรียนศักดิ์ประสิทธิ์วิทยา สมุทรสงคราม ย้ายมาเรียนประถม ๗ ในกรุงเทพที่โรงเรียนวัดนาคปรกและจบ ม.ศ.๓ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ หลังจากนั้นไปเข้าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย รุ่น ๔๓ แผนกสถาปัตยกรรม และจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพได้ตั้งวงดนตรีเล่นกับเพื่อนๆ ชื่อว่าวง “ชูธง” เมื่อเรียนอยู่ที่อุเทนถวาย สมัครเข้าร่วมแสดงละครเวทีกับ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เรื่อง “มัทนะพาธา” ผลงานการแสดงจากเวทีนี้ทำให้เข้าตา ปนัดดา กัลยจาฤกษ์ จึงชักชวนให้มาเล่นละครทีวีเรื่อง “นางฟ้า”
เมื่อไนท์สปอตเปิดรับสมัครผู้จัดรายการวิทยุ จึงได้กลายมาเป็นดี.เจ.ที่นี่ เริ่มจัด Nice & Easy ก่อน จากนั้นจึงมาจัด Radio Active เป็นพิธีกรในรายการคอนเสิร์ตแดดเดียว
มีผลงานเพลงสุดคลาสสิคในอัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ ที่ควบคุมการผลิตโดย พี่ปัอม อัสนี โชติกุล ต่อมาภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลงอิสระ มิวสิค บั๊กส์
พี่เอกเป็นศิลปินมากความสามารถ และเคยปลุกปั่นศิลปินหน้าใหม่เข้าสู่วงการหลายคน
………………………………………………………………….
ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
พี่ตั้วมีชื่อจริงว่า นรัณยู วงษ์กระจ่าง (เปลี่ยนมาจาก ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่ตำบลกระดังงาอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รหัสเข้า 21)
พี่ตั้วเริ่มต้นชีวิตในงานบันเทิงตั้งแต่เรียนสถาปัตย์จาก “ละคอนถาปัด” ซึ่งเป็นละครเวทีโดยนิสิตคณะสถาปัตย์ แล้วในเวลาต่อมาได้รับบทนักแสดงนำในละครเวทีคณะอักษรศาสตร์เรื่อง คนดีที่เสฉวน และ พรายน้ำ จนนำไปสู่นักแสดงอาชีพในที่สุด
ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลาบาดใจสาวๆ ดึงดูดให้มีแฟนๆติดตาม และละครถา’ปัดในช่วงนั้นกลายเป็นสิ่งที่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงานในเมืองต้องไปดู ภาพลักษณ์ของการเป็นพระเอกละครถา’ปัด เป็นดรัมเมเยอร์ และเป็นนักรักบี้ ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย
ทำให้พี่ตั้วกลายเป็นดาวเด่นในสมัยเรียน จนมีกลุ่มซูโม่พูดถึงว่า สาวๆ ชอบแวะมาคณะสถาปัตย์เพราะ 2 เหตุผล คือ ห้องน้ำสะอาด กับ มาดู ศรัณยู
ผลงานละครโทรทัศน์ออกอากาศเรื่องแรกของพี่ตั้ว ศรัณยูคือละครของ “มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช” เรื่อง “เก้าอี้ขาวในห้องแดง” ออกอากาศวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 ทางช่อง 3 เป็นที่มีดาราชั้นแนวหน้านำแสดงคับคั่ง ทั้ง พี่ตู่ นพพล โกมารชุน พี่ตุ่มชลิต เฟื่องอารมย์ พี่ตั๊ก มยุรา ธนะบุตร พี่จุ๋ม อุทุมพร ศิลาพันธ์ และเป็นละครแจ้งเกิดให้กับพี่แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี และพี่ตั้ว
ผลงานในวงการบันเทิงที่พี่ตั้ว ฝากไว้ในความทรงจำได้แก่ ละคร ช่อง 3 จำนวน 22 เรื่อง, ช่อง 5 จำนวน 8 เรื่อง, ช่อง 7 จำนวน 23 เรื่อง, ช่องทรูโฟร์ยู 1 เรื่อง,ช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 จำนวน 2 เรื่อง, แสดงภาพยนตร์ 22 เรื่อง, ละครเวที 29 เรื่อง, เป็นพิธีกร 16 รายการ, ออกอัลบั้มเพลง 4 อัลบั้มและอีก 2 ซิงเกิ้ล, พากย์เสียงอีก 2 เรื่อง, เป็นผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง 19 เรื่อง
………………………………………………………………….
ช่วงปลายปี 2562 พี่ตั้ว ได้เกิดล้มในกองถ่ายกระทั่งส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก และมีลิ่มเลือดออกมา จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ต่อมาแพทย์พบว่าลักษณะของกระดูกหักเหมือนเกิดจากมะเร็ง แพทย์จึงได้เจาะกระดูกไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งจากตับและพบก้อนที่ตับ จึงเริ่มให้การรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด และพบว่าอาการปวดหลังและอาการโดยทั่วไปดีขึ้น
จนล่าสุด 1 เดือนก่อนมีอาการเบื่ออาหาร ปวดหลังมากขึ้น สุดท้ายมีความดันโลหิตต่ำ จนความดันตกลงมาเรื่อยๆ แพทย์ได้ยากระตุ้นความดันโลหิต แต่ช่วยไม่ได้ และได้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่เร็วกว่าที่คาดเอาไว้ ด้วยวัยย่างเข้าปีที่60
ใครจะคาดคิดว่าพระเอกสุดหล่อ มีชีวิตชีวา รูปร่างสูงใหญ่ดูแข็งแรง มีชีวิตที่รุ่งเรือง จะจบลงแบบนี้
ชีวิตมนุษย์ทุกคนไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ยกเว้นความตาย
ขอบคุณที่มอบความสุขให้พวกเรามายาวนาน
ขอจงสู่สุขคติ
………………………………………………………………….
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง