กรมวิทย์ฯ เจอเพิ่มอีก โควิดสายพันธุ์แอฟริกา สุ่มตรวจ 15 เจอ 8
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจ พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพิ่มอีก หลังจากพบ 3 รายแรก ยังอยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ต่างจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่ทราบเพียงว่าติดเชื้อ แต่ระบุสายพันธุ์ไม่ได้ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส สามารถดำเนินการได้ 3 ระดับ คือ 1.การใช้น้ำยาตรวจเฉพาะจุดของไวรัสของสายพันธุ์นั้นๆ 2.การตรวจชิ้นส่วนหรือบางท่อนของไวรัส(Targeted Sequencing) โดยใช้เครื่องตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ)ขนาดใหญ่ รอผล 1-2 วัน และ 3.ตรวจจีโนมของไวรัสทั้งตัว(Genome Sequencing) ทำได้เฉพาะแล็บขนาดใหญ่และใช้เวลาหลายวัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส ด้วยการตรวจจีโนมทั้งตัว ต้องใช้เวลานาน เราจึงตรวจในตัวอย่างเชื้อที่สุ่มมาก่อน และเมื่อพบว่ามีสายพันธุ์ใดก็จะขยายผลตรวจพื้นที่รอบนอกออกไปอีก เพื่อดูว่ามีการกระจายของสายพันธุ์นั้นๆ ไปที่ใดบ้าง โดยหลังจากที่แล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ในผู้ป่วยโควิด-19 อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายตามที่รายงานไปแล้ว กรมวิทยฯ ก็ขอให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เก็บตัวอย่างจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มเติม
“ทางศูนย์ฯ เขาส่งมา 18 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างไม่มีคุณภาพ 3 ตัวอย่าง ตรวจได้ 15 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 8 ตัวอย่าง และที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ โดยเชื้อแอฟริกาใต้ยังอยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ในนี้มี 2 ตัวอย่างที่เก็บจาก จ.ปัตตานี ซึ่งไม่พบเชื้อแอฟริกาใต้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด และไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบใหม่ 8 ราย เพื่อดูว่ามีความเชื่อมโยงกับ 3 รายก่อนหน้านี้อย่างไร แต่ที่ทราบตอนนี้ คือ ทั้งหมดอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสานกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพในพื้นที่ ขอให้เก็บเชื้อตัวอย่างจากจังหวัดรอบๆ มาจนถึงอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และส่งมาให้เราตรวจเพิ่มเติม