ครม.ไฟเขียวงบ บัตรทอง ปี 63 วงเงิน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5 พันล้านบาท งบเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท
บัตรทอง / วันที่ 12 ก.พ. พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ปี 2563 วงเงิน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มจากเดิม 6,500 ล้านบาท โดยปรับการเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,600บาท ต่อผู้มีสิทธิ์ เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 173 บาท
โดยงบที่ได้รับประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
- งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 1.74 แสนล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรและค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 48.26 ล้านคน
- งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,596 ล้านบาท
- งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405. ล้านบาท
- งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง จำนวน 1,037 ล้านบาท
- งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท
- งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน จำนวน 1,025 ล้านบาท
- งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268. ล้านบาท
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการใหม่ที่เพิ่มขึ้นคือ การคัดกรองยีนส์ HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรอายุ 50-70 ปี การผ่าตัดแบบวันเดียวแล้วกลับบ้านได้ทัน 12 รายการ การผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัย เพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยารักษาโรคมะเร็งไทรอยด์
โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาท และเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก ขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ
นอกจากนี้ยังปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกลุ่มอายุ โดยปี 2563 ให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่และอปท. การเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า การเพิ่มบริการต่างๆเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการเข้ารับการรักษาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลให้ทันสมัย
โดยงบฯที่อนุมัติต้องเหมาะสมและเพียงพอต่อการบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ ไม่กระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ งบที่เพิ่มไปนั้นเหมาะสมสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง