ตามที่ในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าในตลาดหลายพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือแก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการตลาดทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังทุกจังหวัด แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งพิจารณาช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เช่าตลาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการลดหรือยกเว้นค่าเช่าหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นที่ได้จากการเช่าตลาดตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและขอความร่วมมือเจ้าของตลาดเอกชน พิจารณาลดหรือยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่าแผงค้าและผู้เช่าอื่น ๆ ในตลาดเอกชนตามความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจะบรรเทาลง
ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทย ขานรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของศบค.และปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเฉพาะในเขตพื้นที่ 13 จังหวัด โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนี้
1. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดบริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา พื้นที่ฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์ของรัฐ จนถึง 20.00 น.
2. ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์ท และแคช แอนด์แครี่ ที่ตั้งนอกศูนย์การค้า เปิดตามปกติและปิดให้บริการ 20.00 น
3. ร้านสะดวกซื้อและตลาดสด เปิดบริการได้ 04.00 น. ถึง 20.00 น. ของทุกวัน
4. กิจการนอกศูนย์การค้า ดังต่อไปนี้ ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง
รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น ภายใต้มาตรการคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทย ในฐานะตัวแทนของสมาชิกภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศขอยืนยันว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกมีความพร้อมที่จะเสริมการบริการด้วยช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้อย่างสะดวกและง่ายดายทุกที่ทุกเวลา
โดยในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่ยังคงเปิดให้บริการ เรามีการบริหารการจัดการสต็อกสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มเพื่อลดความกังวลเรื่องสินค้ามีไม่เพียงพอ
13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร