ทางคู่เฟส 1 มูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาทสะดุด หลังรัฐบาลสั่งปรับแบบสถานีเป็นยกสูงในเส้นทางสายใต้ทั้ง 5 สัญญา ห่วงก่อสร้างล่าช้า เล็งนัดถกแก้ปัญหา กังวลประชาชนเดือดร้อน รถไฟดีเลย์

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า แผนการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, ช่วง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงนครปฐมหัวหิน และ ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ รวมระยะทาง 702 กม. มูลค่าลงทุนรวม 69,500 ล้านบาท อาจมีความล่าช้า หลังจากที่รัฐบาลได้สั่งการให้ปรับแบบก่อสร้าง โดยกำหนดให้ทำสถานียกสูง (High Platform) และไม่ต้องมีรางสับหลีก เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นว่าการใช้สถานียกสูงจะทำให้รถขนส่งสิน ค้าและรถไฟด้านความมั่นคงของทหารไม่สามารถเข้าจอดที่สถานีใดได้เลย ประกอบกับไม่มีทางสับหลีกทำให้รถไฟขนส่งสินค้าจะมีปัญหาอย่างมากในอนาคต เช่นเดียวกับคุณภาพงานบริการของประชาชน เพราะรถไฟบรรทุกผู้โดยสารในปัจจุบันเป็นแบบต่ำ ดังนั้น ในอนาคตรถไฟทางคู่ทุกสายอาจต้องใช้แผ่นรองเดินขึ้นชานชาลาเนื่องจากสถานีอยู่สูงกว่า ตัวรถ แต่ในวันนี้ต้องรีบตัดสินใจเพราะหากจะยกระดับสถานีทางคู่ รฟท.จะต้องสั่งซื้อรถไฟใหม่ที่รองรับชานชาลาสูงมาด้วย

“ในวันนี้ต้องรีบหันหน้าคุยกันเพื่อไม่ทำให้โครงการล่าช้า ฝ่ายนโยบายควรทำหน้าที่วางกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่เรื่องแบบก่อสร้างเป็นงานเทค นิคที่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง รฟท.เป็นคนตัดสินใจ” แหล่งข่าวกล่าว

นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน รฟท. กล่าวว่า รฟท.และฝ่ายนโยบายอยู่ระหว่างหารือกันถึงปัญหาดังกล่าวว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เพราะขณะนี้งานก่อ สร้างในแต่ละสัญญาได้เริ่มต้นไปแล้วในช่วงแรก ดังนั้น จึงต้องเร่งออกแบบสถานีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว.

ขอบคุณเนื้อหาข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์