“ศุภชัย” ระบุ หลังโควิด เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็ว การส่งออก การเติบโตของจีดีพีจะกลับมาเติบโต เพราะประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็ว และอาเซียน ได้รับผลกระทบไม่มาก มองบาทอ่อนไมใช้ปัญหาหลัก อยู่ที่เศรษฐกิจโลกมากกว่า

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างไร ในวิกฤตไทย วิกฤตโลก” ภายในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า จากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐไทย และทุกประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การที่จีนได้ฟื้นตัวจากภาวะโควิดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีกับประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกติดกับห่วงโซ่การผลิตของจีนสูงมาก หากจีนฟื้นตัวเร็วก็ฉุดให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว ประกอบกับไทยรับมือกับปัญหาโควิดได้ดี และประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ ซีแอลเอ็มวี ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่รุนแรง ทำให้การส่งออกของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส อาจทำให้ตัวเลขจีดีพีปีนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คาดไว้ที่จะติดลบถึง 7-8% ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจติดลบ 5-6% แต่ปีหน้าทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและการส่งออกจะต้องเป็นบวกอยู่แล้ว เพราะไทยฟื้นตัวได้เร็ว ตลาดหลักของไทยอย่างจีน และอาเซียนก็ฟื้นตัวได้ดี เห็นได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นทุก ๆ ไตรมาส โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐ และเอเชีย รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น”

สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อการส่งออกนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เห็นได้จากที่ผ่านมามีบางปีที่ค่าเงินบาทอ่อนการส่งออกก็ไม่ได้ขยายตัวมากนัก และในบางปีที่ค่าเงินบาทแข็งกลับส่งออกได้ดี ซึ่งการส่งออกจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก หากเศรษฐกิจโลกดีการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรจะเร่งปรับตัวขยายหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงินอ่อน

“ในอดีตค่าเงินบาทอ่อน เพราะผูกติดกับเงินดอลลาร์ แต่ในขณะนี้เป็นแบบลอยตัวตามกระแสเงินที่เข้าออกประเทศ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมไทย ค่าเงินบาทอ่อนจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มเริ่มก่อตัวให้เติบโตได้แข็งแรง แต่ในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแรงแล้ว จะต้องพัฒนาตัวเองให้ต่อสู้ในตลาดโลกได้”

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลอย่างเพิ่งเร่งเปิดประเทศ ควรจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เปิดทีละนิดแล้วตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ควรเปิดให้เข้าประเทศ คือ กลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน แก้ปัญหาการว่างงานได้ตรงจุด โดยควรจะกัไขกฎระเบียบเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจโควิดที่เข้มงวด

ทั้งนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตของ จีดีพี มากเกินไป ควรจะเน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนไทย เพราะหากปล่อยให้เหมือนสหรัฐ หรือยุโรป ที่ปิดๆ เปิดๆ ประเทศ ไม่มีมาตรการที่รัดกุมทำให้มีคนเจ็บป่วยและตายเป็นจำนวนมาก จะกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่า แต่หากไทยค่อย ๆ เปิดอย่างสมดุล ก็จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาว เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์มีคุณค่ามาก ต้องใช้เวลาในการสร้าง 20-30 ปี หากคนกลุ่มนี้เสียชีวิตลงก็จะสร้างใหม่ได้ยาก ทำให้แม้ว่าโควิดจะผ่านไป แต่ก็จะขาดคนเข้ามาพัฒนาประเทศ ซึ่งหากคนไทยไม่ตายก็กลับมาฟื้นเศรษฐกิจใหม่ได้ง่าย

“หากประเทศไทยรักษาคนไว้ไม่ให้เกิดการสูญเสีย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดไปในปีนี้จะกลับมาโตใหม่ได้เอง กำลังการผลิตจะกลับมาใช้ได้เต็มที่ เพราะจะมีกำลังคงเข้ามาขับเคลื่อนเศรษกิจ ต่างจากยุโรป และสหรัฐจะกลับมาช้า เพราะคนหายไปเยอะ”

ขอบคุณข้อมูล / กรุงเทพธุรกิจ