ไทยพบโควิดสายพันธุ์ XBB จำนวน 2 ราย รวมทั้งยังพบเชื้อ BF.7 อีก 2 ราย อาการไม่รุนแรง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า จากการเฝ้าระวังโควิด-19 ในประเทศไทยพบสายพันธุ์ XBB จำนวน 2 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง และมาตรวจในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง อาการไม่มาก มีไอ ขณะป่วยอาศัยโรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่ 2 เป็นคนไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ แต่ไม่ได้ไปไหน อยู่ในไทย มาตรวจจึงทำให้พบเชื้อ อาการไม่มากและหายเป็นปกติแล้ว
ส่วนสายพันธุ์ BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 พบในจีน และแพร่ไปยังเบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอังกฤษ รวมถึงพบในไทย 2 ราย เป็นชายต่างชาติอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทยอายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ พบที่กรุงเทพฯ มีการรายงานข้อมูลช่วงเดือนก.ย.2565 โดยทั้งคู่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ซึ่งทั่วโลกเจอเชื้อนี้ประมาณ 13,000 คน โดยพวกนี้เป็นเชื้อในตระกูลโอมิครอน คือ แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง
นอกจากนี้ ไทยยังเจอสายพันธุ์ BN.1 หรือ BA.2.75.5.1 จากฐานข้อมูลจีเสดทั่วโลกพบ 437 ราย โดยไทยมีรายงาน BN.1 บนจีเสดจำนวน 3 ราย พบเพิ่มเติมในไทย 7 ราย ส่วน BQ.1.1 ยังไม่พบในไทย แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวนี้เพิ่มจำนวนค่อนข้างเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคตได้ โดยทั่วโลกมีรายงานพันกว่าราย สำหรับสถานการณ์ Emerging variant ที่กังวลเรื่องการหลบภูมิคุ้มกัน จะพบว่า มี XBB รองลงมา BQ.1.1 และ BN.1 จึงต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามต่อไป
นพ.สุกิจ กล่าวว่า วันนี้สายพันธุ์ที่น่าสนใจ คือ BA.2.75.2 มี 8 ราย BN.1 มี 10 ราย BF.7 มี 2 ราย และ XBB อีก 2 ราย แต่ส่วนใหญ่คนติดเชื้อยังเป็น BA.5 พันธุ์ย่อยๆมีบ้าง แต่ขอย้ำว่า ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะตระกูลโอมิครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งหากมีอาการก็ขอให้ตรวจหาเชื้อ จะได้ลดการแพร่เชื้อ เพราะหลักการหากลดการแพร่เชื้อ ก็ลดการกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น มาตรการที่ใช้อยู่อย่างการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4-6 เดือนขอให้มาฉีดกระตุ้น