ศบค.เผยติดเชื้อใหม่ 1,940 ราย ดับอีก 21 ราย โคม่า 954 ราย ชี้มาตรการเข้มช่วยลดตัวเลขได้ แง้มประกาศชะลอเดินทางเข้า ปท.

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,940 ราย สะสม 68,984 ราย ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้พบจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,788 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 142 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศโดยเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 21 ราย สะสม 245 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.36 ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 39,481 ราย เหลือที่ยังรักษาอยู่ 29,481 ราย แบ่งเป็น ในโรงพยาบาล (รพ.) 21,350 ราย รพ.สนามและอื่นๆ อีก 8,123 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 954 ราย และที่ใส่ท่อช่วยหายใจอีก 270 ราย ทั้งนี้ การระบาดระลอกเดือน เม.ย.2564 มีผู้ป่วยสะสม 40,121 ราย เสียชีวิตสะสม 151 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศจะต้องกักตัวในสถานกักกันโรค 14 วัน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ในคนกลุ่มนี้อยู่ตลอด ซึ่งขอให้ติดตามประกาศจากกระทรวงต่างประเทศเรื่องการชะลอการเดินทางเข้าประเทศของผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนชาวไทยที่เดินทางกลับบ้าน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ข้อมูลผู้เสียชีวิต 21 ราย แบ่งเป็น เพศชาย 12 ราย เพศหญิง 9 ราย จำแนกตามพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 8 ราย เชียงใหม่ 4 ราย ชลบุรี 2 ราย ลำพูน 2 ราย และนครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย จำแนกตามความเสี่ยงโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง 11 ราย เบาหวาน 6 ราย โรคหัวใจ 4 ราย ไขมันในเลือดสูง 6 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 1 ราย มะเร็ง 2 ราย โรคอ้วน 3 ราย โรคปอดเรื้อรัง 1 ราย โรคไตเรื้อรัง 3 ราย ผู้ป่วยติดเตียง 3 ราย และปฏิเสธโรคประจำตัว 3 ราย ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ สัมผัสจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ 7 ราย สัมผัสกับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน 1 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 6 ราย สัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย อาศัยในพื้นที่ระบาด 3 ราย ไม่ทราบ 1 ราย และติดเชื้อขณะนอนอยู่ใน รพ. 2 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระลอกเดือน เม.ย.2564 บางวันที่เหมือนจะลดลงแต่ก็ยังมีบางวันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กหารือกันว่าจะต้องลงตรวจในชุมชน พื้นที่แออัดที่มีประชาชนอยู่ร่วมกันหนาแน่น โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑลให้เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม.วันนี้ลดเหลือ 539 ราย จังหวัดในปริมณฑล 570 ราย และจังหวัดอื่นๆ 821 ราย

“สัปดาห์นี้เริ่มใช้มาตรการเข้มงวดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะร้านอาหารซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างถ้วนหน้า ศบค.เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้เห็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันที่ต้องติดตาม เกิดจากความร่วมมือของประชาชน ทำให้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันต่อไป” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 795,819 ราย สะสม 152,800,831 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 12,882 ราย สะสม 3,206,451 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อใหม่ 42,034 ราย สะสม 33,146,008 ราย อินเดีย 392,562 ราย สะสม 19,549,656 ราย และยังมีการเสียชีวิตใหม่ 3,688 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 102 จาก 103 ของโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่เราต้องติดตามคือสายพันธุ์อินเดียที่เริ่มพบในหลายประเทศ สถานการณ์ประเทศเอเชียพบว่า มาเลเซีย รายใหม่ 2,881 ราย สิงคโปร์ 34 ราย กัมพูชา 388 ราย เวียดนาม 14 ราย และลาว 64 ราย