“ไปรษณีย์ไทย” ย้ำมาตรการเข้มส่งพัสดุ หลัง จนท.เสียชีวิตจาก”โควิด-19″ ถึง 3 ราย ไม่ให้กระทบถึงผู้รับ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19 ที่มีความรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ไทย ยังคงมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิต จำนวน 3 ราย
ทางบริษัทไปรษณีย์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ไปรษณีย์ไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเจ้าหน้าที่ และครอบครัวของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต และยืนยัน จะดูแลและมอบสวัสดิการแก่ผู้เสียชีวิตตามสิทธิและแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงาน โดยผู้ปฏิบัติงานที่เสียชีวิตมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต ค่าทำศพ และเงินกองทุนสวัสดิการ ปณท.
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ งานบริการ และภาคประชาชน ไปรษณีย์ไทยจึงได้เน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยในทุกที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ดังนี้
1. ที่ทำการไปรษณีย์ อาคาร หรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อ ไปรษณีย์ไทยให้หยุดกิจกรรมในพื้นที่ทันที เพื่อเร่งทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้ง พิจารณาปิดทำการ 1-3 วันตามความจำเป็น/เหมาะสม หรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ ตามรายละเอียดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19
2. ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วสมควรปิดที่ทำการฯ ชั่วคราว จะจัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดส่งสิ่งของให้กับลูกค้าได้รับโดยเร็ว
3. กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้ไปเข้ารับการตรวจคัดกรอง และหยุดทำงาน เพื่อกักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถมาปฏิบัติงานได้ตามปกติ และให้หมั่นสังเกตอาการ หากพบอาการผิดปกติให้ไปเข้ารับการตรวจคัดกรองทันที
4. เพิ่มมาตรการเชิงรุกในการเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยได้ประสานกับกรมควบคุมโรคและสาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆ เพื่อขอจัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 12,000 คน และรับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 4,200 คน
ซึ่งที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ได้เน้นย้ำให้เจ้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคนต้องระมัดระวัง และต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ประมาทในการดูแลตนเอง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และแพร่เชื้อสู่กันได้ง่ายขึ้น และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการส่งสิ่งของอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการ ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคมได้รับผลกระทบ