“ไทยคู่ฟ้า” แย้ม “รัฐบาล” เร่งออก “มาตรการเยียวยา” เพิ่มอีก 4 กลุ่ม รวม 18.1 ล้านคน

วันที่ 20 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า โพสต์ภาพอินโฟกราฟฟิกพร้อมข้อความระบุว่า เร่งพิจารณาช่วยเหลือคนไทยทุกกลุ่ม ฝ่าวิกฤติโควิด-19 #ไทยคู่ฟ้า ไม่ว่าจะคนกลุ่มใด เราไม่ทิ้งกัน…อดใจรออีกนิดนะครับ ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม หลังจากได้ออกมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” และ “เยียวยาเกษตรกร” มาแล้ว ประชาชนอีก 4 กลุ่มที่กำลังพิจารณา ประกอบด้วย

1. กลุ่มเปราะบาง (เด็กแรกเกิด/ ผู้สูงอายุ/ คนพิการ) (13 ล้านคน)

2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย(2.4 ล้านคน)

3. กลุ่มลงทะเบียนไม่สำเร็จ(1.7 ล้านคน )

4. กลุ่มคนผู้ได้รับผลกระทบฉุกเฉิน(1 ล้านคน)

เพื่อให้เราคนไทยทุกคนก้าวผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

ด้านนายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID 19 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.63 วันที่ 16 พ.ค.63 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ว่า นโยบายหลักของรัฐบาล คือ ช่วยเหลือเยียวยาทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยมาตรการช่วยเหลือคนไทย 66 ล้าน แบ่งเป็นทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ แรงงานในระบบ 11 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงแรงงาน มาตรการเยียวยาได้แก่ การรับเงินชดเชยประกันการว่างงาน

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ แรงงานอิสระ 16 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงการคลัง มาตรการเยียวยาได้แก่ เราไม่ทิ้งกัน เงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วกว่า 15 ล้านคน

กลุ่มที่ 3 เกษตรกร 10 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงเกษตร มาตรการเยียวยา 5,000 บาทต่อครัวเรือน จำนวน 3 เดือน เริ่มแจกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563

กลุ่มที่ 4 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ 3 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ รัฐบาล ดูแลด้วยการที่ไม่มีการลดวันทำงาน หรือลดเงินเดือน ยังคงดูแลเรื่องเงินเดือนครบตลอด

กลุ่มที่ 5 กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนพิการ 13 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

กลุ่มที่ 6 กลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือ กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยหลักเกณฑ์ของรัฐบาลคือ การช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อน ฉะนั้น เมื่อนำผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน หักลบการช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการอื่น ๆ ไปแล้ว จะเหลือผู้ที่ยังไม่มีมาตรการใด ๆ เข้าไปถึงอยู่จำนวน 2.4 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

กลุ่มที่ 7 กลุ่มคนลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงการคลัง เป็นคนกลุ่มที่มาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง หรือกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งตอนนี้ปิดรับแล้ว แต่สัปดาห์หน้าสามารถไปแจ้งได้ที่ธนาคารของรัฐทั่วประเทศ แต่ถึงแม้ท่านไม่ได้ไปร้องเรียนก็ไม่เป็นไร ตอนนี้เราเจอตัวท่านแล้ว เราจะดูแลท่านให้ครบทุกคน

กลุ่มที่ 8 ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉิน 1 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประชาชนได้รับความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งหมด โดยแต่ละคนจะต้องได้รับความช่วยเหลือ 1 มาตรการเท่านั้น จึงอาจต้องใช้เวลาเรื่องการคัดกรองความซ้ำซ้อน โดยกลุ่ม 1-4 ได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนกลุ่ม 5 และ 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ กำลังดำเนินการ ซึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลืออกมาเร็ว ๆ นี้ ส่วนกลุ่ม 6 – 7 กระทรวงการคลังเป็นผู้ดู ซึ่งจะเร่งเยียวยาประชาชนเช่นกัน