เปิดไทม์ไลน์ แหม่มฝรั่งเศสติดโควิดที่สมุย เข้าไทยมากักตัว 14 วันแล้วตรวจไม่พบเชื้อ พอบินไปสมุยกลับป่วย จนท. กักตัว 21 ผู้สัมผัสเสี่ยง – ผู้โดยสารร่วมเที่ยวบิน

เมื่อบ่ายวันที่ 23 ต.ค.63 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าสถานกาณณ์โรคโควิด 19 อ.แม่สอด จ.ตาก และการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า จากการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 5 รายก่อนหน้านี้ที่เป็นครอบครัวชาวพม่า จึงได้ทำการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 12-22 ต.ค. โดยดำเนินการที่ อ.แม่สอด จำนวน 8,656 ตัวอย่าง ไม่พบผลบวกเพิ่มเติม แบ่งเป็นชุมชนที่มีพม่าอาศัย 4,476 ตัวอย่าง ชุมชนด่านพรมแดนแม่สอด 1,285 ตัวอย่างห้างสรรพสินค้าร้ายค้าใกล้เคียง 2,021 ตัวอย่าง อาสาสมัครรักษาดินแดน 47 ตัวอย่างชุมชนในเขตเทศบาล 819 ตัวอย่าง และคนใน Local Quarantine 8 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม ได้เฝ้าระวังเชิงรุกที่อำเภออื่น คืออ.แม่ระมาด 480 ตัวอย่าง อ.ท่าสองยาง 1,194 ตัวอย่าง อ.อุ้มผาง 277 ตัวอย่าง ซึ่งอยู่ในแผนการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ให้ผลลบ298 ตัวอย่างที่เหลือจะรายงานผลตามมา

จากการประเมินร้านค้าและหน่วยราชการร่วมมืออย่างดีทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ครบ 100% ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้านมากกว่า 95% ห้างร้านต่างๆ ร่วมมืออย่างดี ชุมชนต่างๆ ที่มีการงดกิจกรรมศาสนกิจ มัสยิด วัด ปิดโรงเรียนชั่วคราว ขณะนี้ประเมินสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ ประชาชนร่วมมืออย่างดี ขณะนี้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมโดยสมบูรณ์ ถือว่าเบาใจได้ วันนี้ผู้ว่าราการจังหวัดต่ากในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตากได้ประชุมหารืออีกครั้ง หากเป็นเช่นนี้จะผ่อนปรนมาตรการบางอย่างลงได้

นพ.โอภาสกล่าวว่า ล่าสุดมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 1 รายที่น่าสนใจ ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งรายนี้มีการกักตัวแล้ว 14 วัน แต่มาพบเชื้อหลังจากนั้น โดยรายนี้มีความเป็นไปได้หลายอย่าง หากสังเกตไทม์ไลน์มีไปหลายที่มาก ต้องส่งทีมสอบสวนโรคไปหลายจุด ทั้งส่วนกลาง สมุทรปราการ และเกาะสมุย กำลังประมวลเพื่อวิเคราะห์ว่าสาเหตุการติดเชื้อเกิดจากอะไร โดยยังไม่ได้สรุปว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่กังวลว่า กรณีนี้จะทำให้ไม่สามารถลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันหรือไม่นั้น ต้องเรียนว่า การลดระยะการกักตัวเหลือ 10 วันได้ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ มีข้อมูลวิชาการครบว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะลดเวลาลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดเลย ซึ่งหากดำเนินการก็จะลดจำนวนวันเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยมากๆ จากนั้นก็จะมีมาตรการเสริม เช่น การจัดระบบติดตามตัว ตรวจห้องปฏิบัติการที่มากขึ้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า กรณีที่เกาะสมุย เป็นเพศหญิง 57 ปี สัญชาติฝรั่งเศส มีการติดเชื้อโควิด 19 โดยเดินทางมาจากเมือง Limoges ประเทศฝรั่งเศส พร้อมสามีและลูกชายด้วยสายการบินไทย TG933 เมื่อมาถึงเข้าพักในอัลเทอร์เนทีฟ สเตท ควอรันทีน จ.สมุทรปราการ ระหว่างกักตัวปกติดี เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2 ครั้ง คือ วันที่ 3 ต.ค. และ 11 ต.ค. ผลไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง เมื่ออยู่ในสถานที่กักกันโรคจนครบ 14 วัน และได้รับอนุญาตให้ออกจากที่กักกันโรค

วันที่ 15 ต.ค. ได้ไปทำธุระที่สถานทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ช่วงบ่ายเดินทางไปอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบิน PG167 มีเพื่อน 1 รายมารับด้วยรถยนต์ส่วนตัวส่งที่บ้านพัก ต่อมาวันที่ 17 ต.ค.เริ่มมีไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ เดินทางไปบิ๊กซีใกล้บ้านและร้าน 7/11 จากนั้นวันที่ 20 ต.ค. อาการไม่ดีขึ้นจึงไป รพ.กรุงเทพสมุยด้วยรถส่วนตัว ได้ทำการวัดไข้พบว่าไม่มีไข้ อุณหภูมิ 36.2 องศาเซลเซียส ความอิ่มตัวของออกซิเจน 98% ผลเอกซเรย์ปอดปกติดี ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจด้วยวิธี PCR ที่ รพ.เกาะสมุย วันที่ 21 ต.ค. ผลพบเชื้อ จึงนำตัวอย่างเดิมส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จ.สุราษฎร์ธานี ผลออกมาเป็นบวกวันที่ 22 ต.ค. เช่นเดียวกัน จึงส่งตัวเข้าห้องแยกโรค รพ.เกาะสมุย

สำหรับผู้สัมผัสพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 15 ราย แบ่งเป็น สามีและลุก 2 ราย ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ เข้ารับไว้ดูแลให้ห้องแยกโรค รพ.เกาะสมุย ส่วนเพื่อนที่ไปรับส่งอยู่ที่ รพ.แล้วเช่นกัน อยู่ระหว่างการรอผลตรวจหาเชื้อ คาดว่าจะได้ในคืนวันที่ 23 ต.ค. แต่ยังไม่มีใครมีอาการป่วย และผู้โดยสารร่วมเที่ยวบิน 10 ราย และลูกเรือ 2 ราย กำลังติดตามมาตรวจเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมี 21 ราย อยู่ที่ รพ.อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสังเกตอาการ โดยรายนี้มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เนื่องจากตรวจพบเชื้อหลังจากเข้ามาประเทศไทยแล้ว 17 วัน ระหว่างกักกันตรวจไม่พบเชื้อถึง 2 ครั้ง การสอบสวนโรคทั้งหมดทำให้เราสามารถทราบว่าผู้ติดเชื้อในรายนี้คนในบ้าน 2 คนไม่ได้รับเชื้อแต่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ และต้องตรวจสอบเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันหรือไม่และหาเชื้อไวรัส สำหรับอัลเทอร์เนทีฟ สเตท ควอรันทีน จ.สมุทรปราการ ทีมสอบสวนโรคของกองระบาดวิทยา แบละสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ได้ร่วมกันสอบสวนในพื้นที่และเก็บตัวอย่างบุคลากรของสถานกักกันจำนวน 40 คนเพื่อตรวจหาเชื้อเช่นกัน อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ทั้งนี้ การควบคุมโรคเริ่มขึ้นแล้ว ยังไม่พบความผิดปกติ ไม่มีผู้ป่วยในรายที่ 2

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้ถือเป็นการติดเชื้อในประเทศหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า รายนี้เนื่องจากการป่วยเกิดขึ้นหลังจากมาถึงไทย 17 วัน ซึ่งระยะฟักตัวยาวสุดอยู่ที่ 14 วัน และระหว่าง 14 วันก็ตรวจไม่พบเชื้อ เบื้องต้นไม่ได้เดินทางมาจากเมืองที่มีการระบาดรุนแรง เมื่อมาถึงไทยก็เข้าสู่การกักกันโรคทันที พอครบ 14 วันก็พบการป่วยใน 2 วันต่อมา ก็เป็นไปได้ว่า อาจติดที่สนามบิน หรือจากระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน หรือติดในประเทศไทย ทีมสอบสวนโรคจะประมวลข้อมูลทั้งจากที่สมุยและสมุทรปราการเพื่อทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและผลการตรวจของคนอื่นๆ จึงต้องรอข้อมูลก่อนจึงจะสรุปได้ชัดเจน ว่าเป็นการติดเชื้อจากที่ไหน

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเพิ่มวันกักกันโรคหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า การกักกัน 14 วันพอสำหรับคนส่วนใหญ่ ประเทศส่วนใหญ่ลดวันกักกันลง แต่ต้องติดตามคนออกจากการกักกัน ถ้าเจอก็คงน้อยมาก ประเทศที่กักกัน 14 วันเองก็ตรวจก่อนออกจากกักกัน ระยะเวลาจึงเพียงพอ ถ้าต้องเพิ่มมาตรการคือติดตามหลังออกจากที่กักกัน เช่นกรณีนี้สามารถติดตามเพื่อตรวจวินิจฉัย นโยบายคงไม่เพิ่มวันกักกัน แต่เพิ่มมาตรการการดูแลหลังออกจากที่กักกัน