มหาดไทย สั่งผู้ว่าฯทั่วประเทศคุมเข้มสกัดแรงงานต่างด้าวลอบเข้าไทย ป้องโควิดลามชุมชนหมู่บ้าน ละเลยมีโทษทั้งวินัย-อาญา
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการควบคุม การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแบ่งพื้นที่และความรับผิดชอบเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน การปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน และการปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน โดยจังหวัดพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว รวมทั้งตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรคบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองและรถขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคร่งครัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางระบบการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก พร้อมทั้งกำชับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน และชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก สร้างการรับรู้และขอความร่วมมือตรวจสอบมิให้รับแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเข้าทำงานหรือเข้าพัก รวมถึงสร้างการรับรู้กับประชาชนให้ช่วยกันสำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายให้แจ้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ หากพบแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือมีข้อมูลเบาะแสขบวนการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้กำชับทำความเข้าใจกับข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หากฝ่าฝืน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยหรืออาญา