ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์  ยุบพรรคก้าวไกล ปมใช้นโยบายแก้ ม.112 หาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค จำนวน 11 คน เป็นเวลา 10 ปี พิธา-ชัยธวัช เว้นวรรคการเมือง 10 ปี

7 ส.ค. 67  ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล ในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี  นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง  และมาตรา 94 วรรคสอง 

จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1)  และ (2)  

ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 มี.ค. 2564  และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566  เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้น

ภายหลังศาลมีคำสั่งยุบพรรค ก็ได้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดที่มีการกระทำผิด ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปี  

โดยคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ช่วงปี 2563-2566 พบว่า ที่เป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน  คือ

1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น

2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น  

3.น.ส.เบญจา แสงจันทร์

4.นายสุเทพ อู่อ้น  

5.นายอภิชาต ศิริสุนทร

และ ส.ส.เขต  1 คน คือ 6.นายปดิพัทธ์ สันติ ภาดา ส.ส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรค และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม

ส่วนกรรมการบริหารพรรค ที่ไม่ได้ เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน  ประกอบด้วย

7.นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค

8.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

9.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร  

10. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล  

และ 11.นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ (ชุด ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค) 

ผลที่ตามมาอีกคือ ในส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน เนื่องจากบัญชีหายไปจากการถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน  ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจากที่มีเสียงในสภาปัจจุบันรวม 148 คน จะเหลือ 143 คนซึ่งต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน 

รวมถึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก แทนนายปดิพัทธ์

ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยยุบพรรค ยังจะมีผลเป็นการเพิ่มน้ำหนักต่อการดำเนินคดีจริยธรรมร้ายแรง กับ 44 ส.ส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. แต่ในจำนวน ส.ส. 44 คน ที่ยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวปัจจุบันเหลือที่เป็น  ส.ส.อยู่ในสภา 30 คน

ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าคำร้องผู้ถูกร้องที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ยุบพรรคนั้น ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 กก.บห.พรรคก้าวไกล มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นกระทำผิดโดยอ้อม โดยใช้ สส. เป็นตัวแทนหรือเครื่องมือในการกระทำผิด เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ประเด็นที่ 3 ให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพราะการกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการเสนอกฎหมาย-รณรงค์ทางการเมืองแก้ ม.112  เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการล้มล้างการปกครอง

ประเด็นที่ 4 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ “กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล” ช่วงวันที่ 25 มี.ค. 64 – 31 ม.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระทำผิด เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

มติศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ “กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล” ที่ดำรงตำแหน่งช่วงวันที่ 25 มี.ค. 64 – 31 ม.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระทำผิด เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

และห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคในช่วงเวลาดังกล่าว ไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคและจัดตั้งพรรคการเมือง เป็น 10 ปี นับแต่วันที่ศาลสั่งยุบพรรค