ไม่รอด 8 ปี “ประยุทธ์” กรธ.ชี้ชัด ขัดเจตนารมณ์ รธน.2560
เปิดมติ กรธ.ชุดมีชัย ชี้ชัด “ประยุทธ์” อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 แต่กองหนุนลุงตู่มั่นใจได้ไปต่อ สุดท้ายจบที่คำวินิจฉัยศาล รธน.
เปิดมติ กรธ.ชี้ชัด “ประยุทธ์” อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ป้องกันผูกขาดอำนาจ และเหตุวิกฤติการเมือง
จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ “ประยุทธ์” ยังมั่นใจได้ไปต่อ สุพจน์ ไข่มุกด์ เห็นควรนับหนึ่งวันที่โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560
ร้อนแรงที่สุดในชั่วโมงนี้คือ ปมสถานะนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะต้องไปจบที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วันที่ 7 ก.ย.2561 อ้างถึงความเห็นของมีชัย ฤชุพันธุ์ และสุพจน์ ไข่มุกด์ ให้ความเห็นประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นจากตำแหน่ง 24 ส.ค.นี้
ดังที่ทราบกัน ปมสถานะนายกฯ 8 ปี มีข้อถกเถียงทางกฎหมายอย่างกว้างขวาง สรุปสั้นๆ มี 2 แนวทางคือ แนวทางแรก นับหนึ่ง โปรดเกล้าฯพล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557
แนวทางที่สอง นับหนึ่ง โปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งปมขัดแย้งดังกล่าวนี้ จะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความในเร็ววันนี้
‘ความเห็นส่วนตัว’
กรณีบันทึกการประชุม กรธ. มีความเห็นต่อสถานะนายกฯ “ประยุทธ์” ว่า นับหนึ่งจากปี 2557 และจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ก็มีคำชี้แจงจากอดีต กรธ. สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ เรื่องบันทึกการประชุม กรธ.ว่า ไม่ใช่บันทึกลับอะไร
“เอกสารเป็นบันทึกการประชุมไม่ใช่มติ และตีความได้หลากหลาย หากดูตามมาตรา 158 มีหลายวรรคหลายตอน จะเจาะจงตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้..”
ส่วนความเห็นของ กรธ.ให้นับวาระของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สุพจน์ บอกว่า “…เป็นความเห็นช่วงเริ่มแรก และเป็นความเห็นไม่กี่คน ไม่ใช่มติ” ทั้งนี้ ความเห็นของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกลับไปดูรายละเอียดความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญ 2560
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สุพจน์ ไข่มุกด์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า ปม 8 ปีนายกฯ ควรนับหนึ่งในวันที่โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560
“ประยุทธ์” จะไปต่อได้หรือไม่ มิได้เกิดเพียงข้อขัดแย้งทางกฎหมาย หากยังลามไปเป็นปัญหาทางการเมือง ทั้งในสภาฯ และท้องถนน
ถ้าจำได้ วันที่ 11 ก.ย.2561 มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กรธ.เป็นครั้งสุดท้ายที่รัฐสภา และวันนั้น มีชัยได้มอบหนังสือความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กับ กรธ. ทีมงาน และสื่อมวลชนเป็นที่ระลึก
เมื่อย้อนไปอ่านเอกสารความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในหน้า 275 ย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการรับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าว จะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี..”
แปลความได้ว่า เป็นครั้งแรกที่ กรธ. ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไว้ไม่เกิน 8 ปี
“..การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”
นี่คือความเห็นร่วมกันของ กรธ.ชุดอาจารย์มีชัย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยที่แสดงออกผ่านนิด้าโพล ก็เห็นตรงกันว่า 8 ปี ในเส้นทางอำนาจของ 3 ป. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรพอได้แล้ว