คนโคราช ประทับใจคณะประเมินยูเนสโก
ลุ้นเป็น “อุทยานธรณีโลก”
วันที่ 25 มิถุนายน 2565 ผู้ประเมินอุทยานธรณีโคราช Dr.Marie Louise Frey ผู้อาวุโสจากสหพันธ์รัฐเยอรมนีและ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดา เป็นผู้ประเมินอุทยานธรณีในประเทศไทย เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ได้เดินทางมาที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยจุดแรกเข้าประเมินที่ “เรือนรักษ์รถไฟ” เยี่ยมชมอาคารบ้านพักรถไฟไม้สักทอง อายุกว่าหนึ่งร้อยปี อาคารหลังแรกภายในจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อสร้างรถไฟหลวงสายแรกของประเทศไทย สายกรุงเทพ – นครราชสีมา ได้เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2434 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ก็ผ่านพื้นที่อำเภอสูงเนินด้วยเช่นกันโดยมีสถานีรถไฟสูงเนินเป็นสถานีประจำชุมชนสูงเนิน ซึ่งยกระดับขึ้นเป็นอำเภอบ้านสูงเนินในปีพ.ศ. 2442 รวมทั้งการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 6 มาที่สถานีรถไฟสูงเนิน และการเสด็จมาสถานีรถไฟสูงเนินของรัชกาลที่ 9 ส่วนอาคารหลังที่สองจัดแสดงความเป็นมาของโคราชจีโอพาร์ค และห้องแสดงการทอผ้าเงี่ยนนางดำ โดยโรงเรียนสูงเนิน
จากนั้น ผู้ประเมินเดินทางต่อไปที่วัดธรรมจักรเสมา เพื่อประเมินและกราบนมัสการพระนอนหินทราย 1,300 ปี และออกเดินทางต่อไปที่แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 9 บ้านส้มกบงาม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นลานหินธรรมชาติ กระจายตัวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันพบร่องรอยการตัดหินทรายสีแดง รวมทั้งสิ้น 4 จุด พิกัดทางภูมิศาสตร์ UTM โซน 47P 1661400.08 ม. เหนือ 801588.99 ม. ตะวันออก
โดยแหล่งตัดหินโบราณบ้านส้มกบงามนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอพาร์ค เพราะปรากฏร่องรอยกิจกรรมเเละภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างหินทรายไปรังสรรค์ให้ก่อเกิดสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นทางวัฒนธรรม ใช้ก่อสร้างปราสาทในวัฒนธรรมขอมหลายแห่ง อาทิ ปราสาทเมืองแขก ปราสาทเมืองเก่า ปราสาทโนนกู่
ทั้งนี้ ผู้ประเมินจะมีการลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนาม จำนวน 17 แหล่งสำคัญทางธรณีวิทยา ใน 5 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์ 2.โรงเรียนพันดุง 3.แหล่งผลิตเกลือภูมิปัญญาบ้านพันดุง 4.ชุมชนโพนสูง 5.แหล่งตัดหินสีคิ้ว 6.เขาจันทน์งาม 7.ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. 8.อ่างพักน้ำตอนบนลำตะคองสูบกลับ(เขาเควสต้า) 9.ผายายเที่ยง 10.ชุมชนไท-ยวน 11.ชุมชนและปราสาทพนมวัน 12.โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง 13.ไทรงาม ท่าช้าง 14.กลุ่มทอเสื่อบ้านท่าช้าง15.เรือนรักษ์รถไฟ 16.พระนอนหินทราย17.แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม
โดยได้มีการนำเสนอข้อมูลการพัฒนา ผลกระทบ ประโยชน์รวมถึงศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เห็นภาพรวมของแหล่งเควสต้าของอุทยานธรณีโคราช ที่มีภูมิประเทศสวยงามโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของอุทยานธรณีโคราช
ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผย่วา โคราชจีโอพาร์ค ดินแดนแห่งเควสต้าและฟอสซิส Cuesta & Fossil Land ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองใน 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,167 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีแหล่งที่มีความสำคัญระดับนานาชาติระดับชาติ และท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชมากถึง 39 แหล่ง ประกอบด้วยแหล่งธรณี จำนวน 21 แห่ง และเป็นแหล่งธรรมชาติอื่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับแหล่งธรณีวิทยาถึง 18 แห่ง
นอกจากนี้ อุทยานธรณีโคราชยังมีมรดกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอีกมากมาย อุทยานธรณีโคราชตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราชขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวเขาเควสต้าสองชั้นเป็นแลนด์มาร์คที่โดดเด่น และไม่ซ้ำอุทยานธรณีแห่งใดในเครือข่ายอุทยานธรณีโลก ซึ่งถูกรองรับด้วยแผ่นหินที่มีอายุราว 150 – 90 ล้านปี เรียกว่า กลุ่มหินโคราช ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นห้องเรียนกลางแจ้งของ นักศึกษาและนักธรณีวิทยา
ดังนั้น ถ้าผ่านการประเมินแล้วจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน