ชาวโคราชสตรี 25 ตำบลของ อ.เมือง 800 คนสวมชุดนักรบหญิงนุ่งกระโจงเบนรำบวงสรวงสดุดีคุณย่าโม-คุณย่าบุญเหลือ ชดเชยงานย่าโมช่วงโควิด-19 พร้อมกู้ภาพลักษณ์หลังการกระทำของบุคคลบางคน บางกลุ่มหลบหลู่บิดเบือนประวัติศาสตร์ทำร้ายจิตใจประชาชน
นครราชสีมา เมื่อช่วงสายวันนี้( 10 ก.ย. 2563) ที่บริเวณเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี(คุณย่าโม) วัดศาลาลอย ชุมชนศาลาลอย เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาสโมสรวอลเลย์บอลนครราชสีมา เดอะมอลล์ วีซี ได้รับเกียรติให้เป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงสักการะอัฐิท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) และ น.ส.บุญเหลือ ถือสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งศักดิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโคราช ที่พี่น้องประชาชนให้ความเคารพศรัทธา และเป็นประธานเปิดการรำสดุดีคุณย่าโมของสตรี 25 ตำบลของ อ.เมืองนครราชสีมา สวมใส่เสื้อสีชมพูนุ่งจงกระเบนสีน้ำทะเล รวม 800 คน นำโดยนางสุทิน ชาดพุดซา ประธานประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี อ.เมืองฯ เป็นการรำบวงสรวงสักการะคุณย่าโมในโอกาสวันฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารีหรืองานย่าโม หลังจากได้มีการงดกิจกรรม เนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการรำแบบวิถีใหม่ นิวนอมอล ซึ่งมีสตรีชาว จ.นครราชสีมา ภริยาหัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร พ่อค้า คหบดี กลุ่มสตรีภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 4,800 คน โดยแบ่งการรำวันละ 800 คน
ทั้งนี้โดยปรกติวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี ในวันเปิดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีจะมีกิจกรรมรำบวงสรวงโดยสตรีชาว จ.นครราชสีมา แต่เนื่องจากปี 2563 เกิดการระบาดของโควิด-19 จึงได้งดการจัดกิจกรรมดังกล่าว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกระทำของบุคคลบางคน บางกลุ่มมีเจตนาไม่ดี กระทำการหลบหลู่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนทางสื่อต่างๆส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและเป็นการทำร้ายจิตใจของประชาชนชาว จ.นครราชสีมาและประชาชนทั่วประเทศที่ศรัทธาในวีรกรรมของท้าวสุรนารีหรือคุณย่าโมเป็นอย่างมากและต้องการที่จะแสดงออกถึงพลังแห่งความรัก ความศรัทธาต่อคุณย่าโมให้เป็นที่ประจักษ์ โดยการรวมใจกันมารำสดุดีย่าโม สำหรับการรำสดุดีในรูปแบบนาฏศิลป์ไทยมาตรฐานและท่ารำในรูปแบบรำพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น กระบวนท่ารำออกด้วยเพลงมอญพิมาย , เพลงข้าเจ้าหงส์ดงลำไย เนื้อหาเทิดพระเกียรติ พระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิตา พระบรมราชินีฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ และจบลงด้วยกระบวนท่ารำสดุดีท้าวสุรนารีด้วยเพลงทำนองสรภัญญะ