วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก 1 ล้านโดส ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดนำเข้าในมิ.ย.นี้

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมแถลงการบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ตนและผู้บริหาร สธ. ขอแสดงความยินดีกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างยิ่ง ที่ร่วมสนับสนุนการจัดหาวัคซีนทางเลือก สำหรับผู้ที่อยู่ในภาคเอกชน ตามนโยบายตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วัคซีนทางเลือกเกิดขึ้นแล้ว โดยราชวิทยาลัยฯ เป็นผู้ประสานงาน และมีตัวแทนนำเข้าตามใบอนุญาต คือ บริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด ซึ่ง อย.ได้อนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นที่เรียบร้อย

ศ.นพ.นิธิ กล่าว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการกระจายวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดต่อขอจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ซิโนฟาร์ม โดยตรง และให้บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นเอกสารขออนุญาตจาก อย. ตลอดจนการขนส่งวัคซีน

“เบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้าล็อตแรกมาราว 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนในเดือนต่อไปอาจให้บริษัท ไบโอจีนีเทค หารือ และต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตต้นทางอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการดำเนินการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จะหารือร่วมกับ สธ. เพื่อกระจายวัคซีนให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจัดซื้อพ่วงการประกันผลจากวัคซีนโควิด-19 ด้วย” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มมีหน่วยงานรัฐและเอกชนติดต่อขอซื้อวัคซีนบ้างแล้ว เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด ฯลฯ ทั้งนี้ จะพิจารณาการฉีดให้แก่องค์กรผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือกลุ่มโรงแรม เพื่ออุดช่องว่างให้กิจการภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

“ในอนาคตราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เล็งหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวอื่นเพิ่มเติม เพื่อนำมาศึกษา และทำการวิจัยว่า วัคซีนตัวไหนเหมาะสำหรับเชื้อที่ระบาดในประเทศไทยมากที่สุด” ศ.นพ.นิธิ กล่าวและว่า สำหรับราคานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตกลง ซึ่งต้องคำนึงถึงต้นทุน ค่าขนส่ง และการจัดเก็บวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง ขอยืนยันว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ค้ากำไรแน่นอน